11. ผกากรอง Lantana camara
ผกากรอง Lantana camara
ผกากรอง
ผกากรอง ชื่อสามัญ Cloth of gold, Hedge flower, Lantana, Weeping lantana, White sage[2],[3],[8]
ผกากรอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Lantana camara L. จัดอยู่ในวงศ์ผกากรอง (VERBENACEAE)[1]
สมุนไพรผกากรอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขะจาย มะจาย ตาปู (แม่ฮ่องสอน), คำขี้ไก่ (เชียงใหม่), ดอกไม้จีน (ตราด), ไม้จีน (ชุมพร), ขี้กา (ปราจีนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์), สามสิบ (จันทบุรี), ยี่สุ่น (ตรัง), เบ็งละมาศ สาบแร้ง หญ้าสาบแร้ง (ภาคเหนือ), ก้ามกุ้ง เบญจมาสป่า หญ้าสาบแร้ง (ภาคกลาง), จีน, โงเซกบ๊วย (จีนแต้จิ๋ว), อู่เซ่อเหมย หม่าอิงตาน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของผกากรอง
- ต้นผกากรอง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบอเมริกาและแอฟริกาเขตร้อน[7] และภายหลังได้มีการแพร่ขยายไปทั่วโลกในเขตร้อน แต่ไม่มีหลักฐานว่าเข้ามาในไทยเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าคงเข้ามาในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง[3] โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก ทำให้ทรงพุ่มมีลักษณะค่อนข้างกลม ใบขึ้นดกหนา ตามลำต้นเป็นร่องมีหนามเล็กน้อย เมื่อขยี้ดมจะมีกลิ่นเหม็น ทั่วทั้งต้นมีขนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ (ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการปักชำ เพราะสะดวกและรวดเร็วกว่า) ผกากรองเป็นพรรณไม้ดอกกลางแจ้งที่มีอายุหลายปี ชอบแสงแดดจัด ควรได้รับแสงแดดอย่างพอเพียง ชอบสภาพค่อนข้างแห้งแล้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายและระบายน้ำได้ดีมากกว่าดินชุ่มชื้นหรือดินเหนียว จึงจัดเป็นพืชที่มีความแข็งแรงทนทานมาก หลาย ๆ แห่งถือว่ามันเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง เพราะสามารถขึ้นและขยายพันธุ์ได้ดีตามธรรมชาติ จึงมักพบขึ้นตามป่าละเมาะที่ค่อนข้างโปร่งและแห้งแล้ง[1],[3],[6]
- ใบผกากรอง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่สีเขียวเข้ม ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-9 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนหยาบ ผิวใบด้านบนและด้านล่างมีขนปกคลุมเล็กน้อย เมื่อลูบจะรู้สึกระคายมือ เส้นใบมีลักษณะย่น ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร[1],[3]
- ดอกผกากรอง ออกดอกเป็นช่อคล้ายซี่ร่ม โดยจะออกตามง่ามใบหรือส่วนยอดของกิ่ง ขนาดช่อดอกกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ประกอบไปด้วยดอกหลายสิบดอก (ช่อละประมาณ 20-25 ดอก) ก้านช่อดอกยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นรูปกรวย มีกลิ่นฉุน กลีบดอกบานออกเป็นกลีบ 4 กลีบ มีขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร ดอกจะทยอยบานจากด้านนอกเข้าไปในช่อดอก ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่กลางดอก 4 ก้านอยู่ติดกับกลีบดอก ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว (ผกากรอง), สีเหลือง (ผกากรองเหลือง), สีแดง (ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง) และยังมีสีแสด สีชมพู และหลายสีในช่อดอกเดียวกัน เป็นต้น (แต่ในปัจจุบันมีการผสมพันธุ์จนเกิดสีผสมใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ และขนาดของดอกหรือช่อดอกก็โตขึ้นด้วย) และยังสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปีหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม[1],[3],[7]
- ผลผกากรอง ผลจะพบบริเวณในดอก ลักษณะของผลเป็นรูปกลม ออกผลเป็นกลุ่มหรือเป็นพวง เป็นผลสดแบบมีเนื้อ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เนื้อนิ่ม เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีม่วงดำ ภายในผลมีเมล็ด 2 เมล็ด[1],[2],[5],[6],[7]
สรรพคุณของผกากรอง
- รากช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ราก)[2]
- รากแห้งนำมาต้มกับน้ำดื่ม จะช่วยแก้อาการเวียนศีรษะจากอากาศที่ร้อนอบอ้าวได้ (ราก)[4]
- ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
- ใช้แก้เด็กซึมเซา ง่วงนอนเสมอ ด้วยการใช้ดอกผกากรอง แห้งหนัก 1 บาท ผสมกับดอกทานตะวันแห้ง 1 ดอก นำมาต้มกับน้ำสะอาดแล้วนำมาดื่ม (ดอก)[5]
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้รากสดนำมาต้มเอาน้ำอมบ้วนปาก จะช่วยแก้อาการปวดฟันได้ (ราก)[2],[5]
- ช่วยแก้คางทูม ด้วยการใช้ผกากรองแห้งหนัก 4 บาท นำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่ม (ราก)[2],[5]
- รากมีรสจืดขม ใช้เป็นยาแก้ไข้เรื้อรัง แก้หวัด ไข้สูง แก้ไข้หวัดตัวร้อน หวัดใหญ่ ด้วยการใช้รากแห้งหนัก 4 บาท นำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่ม (ราก)[1],[2],[5] ตำรับยาจีนจะใช้รากผกากรองสด, กังบ๊วยกึง, ซึ่งปัวจิ้กึงหนักอย่างละ 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)[1]
- ช่วยทำให้อาเจียน (ใบ)[4]
- ช่วยแก้อาการเจียนเป็นเลือด (ดอก)[2]
- ช่วยแก้วัณโรค วัณโรคปอด ด้วยการใช้ดอกแห้ง หนัก 1 บาท นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[2],[5]
- ช่วยแก้ติดเชื้อวัณโรคที่ต่อมทอนซิล (ราก)[1]
- ช่วยแก้หืด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
- ช่วยขับลม (ราก, ใบ)[1],[2] ขับลมชื้น (ราก)[1]
- ดอกใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้องอาเจียน ด้วยการใช้ดอกผกากรองสดหนัก 1 บาท นำมาต้มกับน้ำสะอาด ใส่เกลือเล็กน้อย แล้วนำมาใช้ดื่มเป็นยา (ดอก)[2],[5]
- ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะ (ราก)[1]
- ใบมีคุณสมบัติห้ามเลือดและช่วยรักษาแผลสดได้ เราจะใช้ใบมาตำหรือขยี้ให้ช้ำแล้วนำมาพอกบริเวณบาดแผลสด อีกทั้งยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย (ใบ, ดอก)[2],[3]
- ใบและก้านใช้เป็นยาภายนอกรักษาโรคผิวหนัง ฝีหนอง โดยนำมาตำแล้วพอกหรือนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างแผลหรือบริเวณที่เป็น (ใบ)[1]
- ใบใช้ตำพอกแผล ฝีพุพองเป็นหนอง แก้ผดผื่นคันที่เกิดขึ้นจากหิด (ใบ, ดอก)[2],[5]
- ตำรับยาแก้ผดผื่นคันจะใช้ใบผกากรองแห้ง, ใบสะระแหน่, ใบสนแผง, ต้นกะเม็ง, โซวเฮียะ หนักอย่างละ 35 กรัม นำมารวมกันบดเป็นยาผง ใช้ผสมกับเหล้าทาบริเวณที่เป็นวันละ 3 ครั้ง (ใบ)[1]
- รากมีสรรพคุณแก้โรคผิวหนังผื่นคัน แก้อาการคัน แก้อาการปวดแสบปวดร้อนทางผิวหนังที่เกิดจากการเป็นฝี (ราก)[1]
- ดอกใช้เป็นยาแก้อักเสบ (ดอก)[2]
- รากใช้เป็นยาดับพิษแก้บวม (ราก)[1]
- ใบมีรสขมเย็น ใช้ใบสดนำมาโขลกให้ละเอียดแล้วนำมาพอกแก้ปวด แก้บวม พอกรักษาฝี ถอนพิษ และรักษาแผลฟกช้ำได้ (ใบ)[2],[4] ส่วนรากและดอกก็ช่วยแก้รอยฟกช้ำ แก้อาการฟกช้ำดำเขียวที่เกิดจากการกระทบกระแทกได้เช่นกัน (ราก, ดอก)[1],[2]
- แก้โรคปวดตามข้อ ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำ ผสมกับน้ำอาบ หรือทำเป็นลูกประคบ (ใบ[5], ราก[1]) หมอพื้นบ้านในเกาะชวาของอินโดนีเซีย จะใช้ผกากรองมาปรุงเป็นยารักษาโรคไขข้ออักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
- ช่วยแก้อาการปวดเอ็น ด้วยการใช้ดอกสดนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ แล้วนำมาทา ส่วนกากที่เหลือให้นำมาพอกบริเวณที่เป็นแล้วเอาผ้ารัดไว้ (ดอก)[5]
- การใช้รากตาม [1] และ [2] ให้ใช้รากแห้งครั้งละ 15-35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ถ้าเป็นรากสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[1],[2]
- การใช้ใบตาม [2] ให้ใช้ใบสดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หากใช้ภายนอกให้นำมาตำพอกหรือคั้นเอาแต่น้ำผสมกับเหล้าเป็นยาทา หรือจะนำไปต้มกับน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นก็ได้ (ใบ)[2]
- การใช้ดอกตาม [2] ให้ใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มแก้หิด (ใบ)[2]
- สารที่พบ ได้แก่ Alkaloid, A-pinene Pcymene, B-Caryophyllene, Humulene, Lantic acid, Lantanolic acid เป็นต้น[1]
- สารพิษที่พบ ได้แก่ lantadene A (Rehmannic acid), lantadene B และ lantadene C[8]
- สาร Lantaden alkaloid ที่สกัดได้จากผกากรอง มีฤทธิ์คล้ายกับควินิน สามารถช่วยแก้พิษร้อนในร่างกายได้[1]
- สารที่สกัดจากใบผกากรองด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ในการกระตุ้นลำไส้และมดลูกของหนูทดลอง และยังสามารถช่วยแก้หอบหืดในหนูทดลองได้อีกด้วย[1]
- เมื่อนำใบผกากรองสดมาให้วัวหรือแกะกิน พบว่าวัวหรือแกะจะมีอาการกลัวแสงและเป็นดีซ่าน แสดงว่าอาจมีพิษซ่อนอยู่ในใบผกากรอง[1]
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1],[2]
- ผกากรองเป็นพืชมีพิษ การนำไปใช้เป็นยาสมุนไพรควรใช้อย่างระมัดระวัง[8]
- ใบผกากรองมีสารเป็นพิษคือสาร Lantanin สารชนิดนี้เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงมาก โดยเฉพาะสัตว์จำพวกแพะและแกะ โดยพิษของผกากรองจะส่งผลต่อระบบประสาทและต่อตับ เมื่อสัตว์เลี้ยงกินเข้าไปมาก ๆ จะทำให้ถึงตาย[6]
- สารพิษจากผกากรองที่นำไปใช้เป็นยาฆ่าแมลงในแปลงผัก อาจตกค้างและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ฉะนั้นควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และควรเว้นระยะปลอดภัยก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย[6]
- ส่วนที่เป็นพิษคือส่วนของผลแก่ที่ไม่สุก ส่วนของใบ และทั้งต้นโดยเฉพาะผล และสารที่เป็นพิษคือ Lantadene และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นเด็กที่มีอายุประมาณ 2-6 ขวบ[9]
- ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากผกากรองมักจะไม่แสดงอาการเป็นพิษออกมาทันที แต่อาการจะเกิดขึ้นเมื่อผ่านไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยจะมีอาการเป็นพิษที่เกิดขึ้น ได้แก่ มีอาการมึนงง อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ขาดออกซิเจน ทำให้หายใจลึกและช้า หายใจลำบาก รูม่านตาขยาย กลัวแสง กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน มีอาการโคม่า การตอบสนองของกล้ามเนื้อ tendon ถูกกด มีอาการหมดสติ และอาจถึงตายได้ในที่สุด[8]
- คนและสัตว์ที่กินเข้าไปจะก่อให้เกิดอาการผิวหนังไวต่อแสง ผิวหนังมีรอยฟกช้ำดำเขียว ผิวหนังแตกในคน ส่วนในสัตว์เมื่อกินเข้าไปจะเกิดอาการทำให้น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นเลย มีน้ำนมลดลง ขนไม่งามเท่าที่ควร ผิวหนังขาด pigment (เช่น วัว ควาย แกะ หมู เป็นต้น)[9]
- สำหรับอาการเป็นพิษที่เกิดขึ้นในสัตว์ จะมีพิษกึ่งเฉียบพลันในสัตว์ทดลองที่กินใบผกากรอง โดยจะมีอาการซึม ไม่อยากกินอาหาร มีอาการท้องผูก ปัสสาวะบ่อย หลังจากนี้อีกประมาณ 1-2 วัน จะพบอาการเหลืองและขาดน้ำตามเนื้อเยื่อเมือก ตาอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ ผิวหนังไวต่อแสง ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบที่เรียกว่า pink nose เจ็บ ซึ่งอาการอักเสบนี้อาจจะลุกลามไปถึงปาก โพรงจมูก ตา เกิดเป็นผลบวม หนังตาบวม ปลายจมูกแข็ง หูหนาและแตก ทำให้เกิดอาการคันจนสัตว์ต้องถูบ่อย ๆ จนทำให้เป็นแผลหรือตาบอดได้ และโดยมากเมื่อได้รับพิษไปประมาณ 1-4 อาทิตย์ อาจทำให้ตายได้ เนื่องจากไตล้มเหลว อดอาหาร ขาดน้ำ ไม่มีการขับถ่าย ปัสสาวะไม่หยุด ปริมาณของ Billirubin ในเลือดสูง จึงเหลือง เอนไซม์จากตับสูง (แสดงว่ามีการอักเสบของตับ) และเมื่อทำการชันสูตรซากสัตว์ที่ตายแล้วก็พบว่า มีอาการดีซ่าน ตับบวม ถุงน้ำดีโต เนื่องจากผนังบวม ไตเหลือง บวม ฉ่ำน้ำ และลำไส้ใหญ่ไม่เคลื่อนไหว[8] นอกจากนี้ยังพบว่าในวัวที่กินพืชชนิดนี้เข้าไปแล้วจะพบว่ามีระดับของ serum adenosine diaminase เพิ่มขึ้น ถ้าสัตว์ได้รับสารนั้นจะมีอาการดีซ่าน (jaundice)[9]
- พิษเรื้อรังในสัตว์ที่จะเกิดขึ้นตามมา นอกจากผิวหนังจะเกิดอาการแพ้แสงแดดแล้ว ยังจะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังส่วนอื่น ๆ อีก เช่น ผิวหนังบริเวณจมูกหรือปาก หู คอ ไหล่ ขา รวมไปถึงส่วนอื่น ๆ อาจเป็นสีเหลือง แข็ง บวม แตก และเจ็บ ผิวหนังลอกและเปิด และอาจเกิดอาการอักเสบไปจนถึงเนื้อเยื่อบุผิวเมือกบริเวณใกล้เคียงด้วย ซึ่งอาการเยื่อบุตาอักเสบจะพบเห็นได้เป็นบางครั้งในระยะที่รับพิษเฉียบพลัน และอาจมีผลกระทบต่อผิวหนัง เยื่อบุรอบตาและที่ตาด้วย[8]
- เด็กหญิงอายุปีครึ่ง (น้ำหนัก 35 ปอนด์) ได้กินผลของผกากรองสีเขียวโดยไม่ทราบปริมาณ หลังจากกินไปแล้ว 6 ชั่วโมง เด็กมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรงจนไม่สามารถยืนได้ เริ่มมีอาการอาเจียนและหมดสติ เด็กถูกส่งตัวเข้าห้องพยาบาลทันที โดยมีรายงานว่า เด็กมีอาการขาดออกซิเจน หายใจลึก โคม่า รูม่านตาขยายเท่าหัวเข็มหมุด และไม่ตอบสนองต่อแสง และได้รักษาด้วยวิธีการให้ออกซิเจน ฉีด adrenal steroid เข้าทางกล้ามเนื้อ ฉีด epinephrine 1:1000 เข้าใต้ผิวหนัง และรักษาไปตามอาการ หลังจากนั้นเด็กหยุดหายใจหลังกินผลไปได้ประมาณ 8.5 ชั่วโมง ผลการชันสูตรพบว่า มีเลือดคั่งที่ปอดและที่ไตเล็กน้อย ส่วนสาเหตุการตายเนื่องมาจาก pulmonary edema และ neurocirculatory collapse[8]
- เด็กชายอายุ 3 ปี (หนัก 27 ปอนด์) ถูกนำส่งศูนย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลประมาณ 5 ชั่วโมง หลังจากรับประทานผลผกากรองสีเขียว โดยอาการที่พบ คือ มีอาการอาเจียน ไม่มีแรง หายใจไม่สะดวก ขาดออกซิเจน การตอบสนองของกล้ามเนื้อ tendon ถูกกด รูม่านตาขยาย และท้องเสีย ในอุจจาระมีผลผกากรองสีเขียวปนอยู่ ซึ่งทำการรักษาด้วยการล้างท้อง และฉีด adrenal steroid เข้าทางกล้ามเนื้อ ทำการให้ออกซิเจน และให้ความช่วยเหลือทั่วไป โดยอาการเป็นพิษยังคงอยู่ประมาณ 56 ชั่วโมง และเด็กได้ออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 5 ภายหลังเข้ารับการรักษาตัว[8]
- เด็กหญิงอายุ 4 ปี (หนัก 32 ปอนด์) ถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉินหลังจากรับประทานผลผกากรองสีเขียวไปแล้ว 3.5 ชั่วโมง ซึ่งอาการในขณะที่มาถึงโรงพยาบาล คือ มีอาการอาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หายใจลึกและช้า รูม่านตาขยายและกลัวแสง โดยทำการรักษาด้วยการล้างท้องและให้ความช่วยเหลือต่อไปอีก 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นเด็กก็สามารถออกจากโรงพยาบาลได้[8]
- ผู้ป่วยอายุ 50 ปี มีอาการผิวหนังอักเสบเนื่องจากใช้ใบผกากรองแห้งมาทาผิว แต่ใบผกากรองมีลักษณะหยาบและสาก จึงอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังได้เมื่อเกิดการสัมผัส[8]
- มีการศึกษาพิษและรายงานการเกิดพิษของผกากรองในสัตว์ต่าง ๆ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ และสัตว์ทดลองอื่น ๆ มากมาย เพราะในต่างประเทศผกากรองจัดเป็นวัชพืชที่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง บ่อยครั้งที่สัตว์กินไปแล้วทำให้บาดเจ็บล้มตาย เจ้าของสัตว์จึงต้องศึกษาวิธีการแก้พิษและการรักษา[8]
- ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้องให้เร็วที่สุด และควรล้างท้องภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากกินเข้าไป หากนานกว่า 3 ชั่วโมงต้องให้ยา corticosteroids, adrenalin, ให้ออกซิเจน และรักษาไปตามอาการ[8]
- การรักษาอาการเป็นพิษในคน หากกินไปไม่เกิน 30 นาที ให้ผู้ป่วยกินน้ำเชื่อม ipecac เพื่อช่วยให้อาเจียนเอาเศษชิ้นส่วนของพืชออกมา (เด็กอายุ 1-12 ปีให้กิน 1 ช้อนโต๊ะ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้กิน 2 ช้อนโต๊ะ) ถ้าหากไม่ได้ผลให้ทำการล้างท้อง แต่ยกเว้นในเด็กที่ได้รับพิษเกินกว่า 3 ชั่วโมง อาจทำการล้างท้องไม่ได้ผล จึงควรให้ยา adrenaline, corticosteroids ให้ออกซิเจน และรักษาไปตามอาการ[8]
- ส่วนการรักษาอาการเป็นพิษในสัตว์เลี้ยงที่สงสัยว่าได้รับพิษจากผกากรอง หลังกินเข้าไปจะมีฤทธิ์ทำให้กระเพาะของสัตว์หยุดการเคลื่อนไหว เป็นสาเหตุทำให้สารพิษเหลืออยู่ในกระเพาะและเกิดการดูดซึมอย่างต่อเนื่อง การแก้พิษด้วยวิธีการป้องกันไม่ให้พิษเกิดการดูดซึมเพิ่มขึ้นไปอีก ให้ใช้ผงถ่าน (activated charcoal) ในปริมาณสูงร่วมกับสารละลายอิเล็กโทรไลต์เพื่อไปกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของกระเพาะ และทำให้ของเหลวกลับเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ก็ให้รักษาอาการแพ้แสงแดดของผิวหนังด้วย โดยมีรายงานการทดลองใช้เบนโดไนต์ (bentonite) เพื่อรักษาอาการพิษแทนการใช้ผงถ่าน พบว่าสัตว์ทดลองมีอาการดีขึ้นช้ากว่ากลุ่มที่ให้ผงถ่าน 3 วัน แต่ราคาของเบนโทไนต์จะถูกกว่าผงถ่าน จึงใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการเป็นพิษในสัตว์เลี้ยงวัวได้[8]
- ประโยชน์หลัก ๆ ของผกากรอง คือ การนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นกลุ่มเพื่อประดับตามสถานที่ต่าง ๆ กลางแจ้ง เช่น ตามทางเดิม ริมถนน ริมทะเล ริมน้ำตก ลำธาร ฯลฯ หรือใช้ปลูกเพื่อตกแต่งตามแนวรั้วได้เป็นอย่างดี เพราะให้ดอกที่มีสีสันสดใสได้ตลอดทั้งปี ปลูกเลี้ยงดูแลได้ง่าย มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและโรคหรือแมลงต่าง ๆ ได้ดีมาก และในปัจจุบันผกากรองก็มีสีสันของดอกที่หลากหลายมากกว่าแต่ก่อน จึงมีการนำมาปลูกประดับตามสถานที่ต่าง ๆ หรือปลูกไว้ในกระถางกันมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังทนทานต่อการตัดแต่งและดันทรง ทนต่อความแห้งแล้ง ดินเลว จึงเหมาะสำหรับปลูกในกระถางเพื่อทำไม้ดัดเป็นรูปทรงต่าง ๆ หรือไม้แคระ (บอนไซ)[3]
- ผกากรองเป็นพืชที่ออกดอกดกเป็นช่อตลอดทั้งปี จึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของแมลงต่าง ๆ เช่น ผีเสื้อและผึ้ง[3]
- เนื่องจากใบผกากรองมีกลิ่นฉุน และมีสารพิษที่เป็นพิษต่อระบบประสาทของแมลงจำพวกหนอนกระทู้ในแปลงผักที่ชื่อว่า แลนทานิน (Lantanin) จึงมีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรสำหรับฆ่าและขับไล่แมลงศัตรูพืช โดยวิธีการเตรียมและใช้ผกากรองเป็นสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช วิธีแรกให้ใช้เมล็ดผกากรองบด 1 กิโลกรัมผสมกับน้ำ 2 ลิตร และให้แช่ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วนำมาใช้ฉีดพ่นเพื่อฆ่าหนอนกระทู้ในแปลงผัก ส่วนอีกวิธีให้ใช้ใบและดอกสดบดละเอียดหนัก 50 กรัม ผสมกับน้ำ 400 ซีซี แช่ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วกรองผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 : 5 แล้วนำไปใช้ฉีดพ่น[3],[6]
วิธีใช้สมุนไพรผกากรอง
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผกากรอง
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรผกากรอง
พิษของผกากรอง
ตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากผกากรอง
การรักษาพิษของผกากรอง
ประโยชน์ของผกากรอง
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ผกากรอง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 332.
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ผกากรอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [22 เม.ย. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 295 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “ผกากรอง : ความงามที่มากับความทนทานข้ามทวีป”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [22 เม.ย. 2014].
- ทะเบียนพันธุ์ไม้ในโรงเรียน, โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ. “ผกากรอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.wattano.ac.th. [22 เม.ย. 2014].
- หนังสือเพชรน้ำเอก กรุยอดตำรับยาสมุนไพร. “แขนงที่ 2 ประโยชน์และสรรพคุณของพืชสมุนไพรในการนำมาใช้รักษาโรค”. (พฤฒาจารย์วิพุธโยคะ รัตนรังษี).
- รักบ้านเกิดดอทคอม. “ผกากรอง ไม้ดอกวัชพืช”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rakbankerd.com. [22 เม.ย. 2014].
- หนังสือไม้ดอกแสนสวย. (อรชร พงศ์ไสว).
- ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ผกากรอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [22 เม.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลพืชพิษ, ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. “ผกากรอง”. อ้างอิงใน: หนังสือตำราสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 ว่าด้วยสมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภ.หิรัญรามเดช), สารพิษในพืชและอาการพิษในสัตว์ทดลอง (วันทนา งามวัฒน์), สมุนไพรเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน (ข้อมูลสรุป) (โครงการสมุนไพรกับการสาธารณสุขมูลฐาน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th/poison/. [22 เม.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Susan Ford Collins, Reinaldo Aguilar, Nemo’s great uncle, Farhan Haekal, jeremyhughes, Elissa Malcohn, A Yee)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
ที่มา : https://medthai.com/%E0%B8%9C%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น