4. พญาไร้ใบ Euphorbia tirucalli
พญาไร้ใบ Euphorbia tirucalli
พญาไร้ใบ
พญาไร้ใบ ชื่อสามัญ Milk bush[3], Indian tree spurge[4]
พญาไร้ใบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia tirucalli L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]
สมุนไพรพญาไร้ใบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เคียะจีน พญาร้อยใบ (เชียงใหม่), เคียะเทียน (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1]
หมายเหตุ : ต้นพญาไร้ใบที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกับพญาไร้ใบ (ชนิดที่ไม่มีใบเลยจริง ๆ) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarcostemma acidum (Roxb.) Voigt มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เถาหูด้าน เอื้องเถา เถาวัลย์ยอดด้วน เป็นต้น โดยคุณสามารถอ่านบทความของพรรณไม้ชนิดนี้ได้ที่บทความเรื่อง “เถาวัลย์ด้วน” และยังเป็นคนละชนิดกับกล้วยไม้ที่มีชื่อว่า “เอื้องพญาไร้ใบ” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Chiloschista lunifera (Rchb.f.) J.J.Sm.) อีกด้วย
ลักษณะของพญาไร้ใบ
- ต้นพญาไร้ใบ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 4-7 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก ดูคล้ายกับปะการัง เปลือกลำต้นแก่เป็นสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีหนาม ส่วนกิ่งอ่อนเป็นรูปทรงกระบอกเป็นสีเขียวเรียบเกลี้ยง อวบน้ำ เมื่อหักหรือกรีดดูจะมีน้ำยางสีขาวข้นออกมาจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตัดชำ ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี และมีแสงแดดตลอดวัน มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ โดยจะออกดอกและติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[1],[4]
- ใบพญาไร้ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบมีขนาดมาก ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน โดยมีขนาดกว้างประมาณ 0.2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย[1]
- ดอกพญาไร้ใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กสีเขียว ดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย ไม่มีกลีบดอก และอยู่ในช่อเดียวกัน มีแต่กลีบรองดอกสีขาว กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ[1]
- ผลพญาไร้ใบ ผลเป็นผลแห้งจะแตกและอ้าออก[1]
สรรพคุณของพญาไร้ใบ
- รากมีรสเฝื่อน ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ธาตุพิการ (ราก)[1],[2]
- รากนำมาต้มกับน้ำมะพร้าวใช้ทาแก้อาการปวดท้อง (ราก)[1],[2]
- ต้นใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้กระเพาะอักเสบ (ต้น)[1]
- รากใช้สกัดเป็นเป็นยาระบายได้ (ราก)[1],[2]
- ใบและรากมีรสเฝื่อน ใช้ตำพอกแก้ริดสีดวงทวาร (ใบและราก)[1],[2] และใช้ต้นนำมาตำพอกริดสีดวง (ต้น)[1]
- น้ำยางจากต้นใช้รักษาโรคผิวหนัง (น้ำยางจากต้น)[1],[2] ส่วนเนื้อไม้ใช้ผสมเป็นยาสำหรับรักษาโรคผิวหนัง โรคเรื้อน กรณีที่มือและเข่าอ่อนเปลี้ยหลังการคลอดบุตรของสตรี (เนื้อไม้)[2]
- ต้นใช้ตำพอกเป็นยาแก้รังแค (ต้น)[1]
- ต้นใช้เป็นยาพอกแผล (ต้น)[1]
- ตำรายาพื้นบ้านจะใช้น้ำยางจากต้นมาแต้มกัดหูด (ใช้น้ำยางจากกิ่งที่หักมาใหม่ ๆ มาหยดลงบริเวณที่เป็นหูด วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น) (น้ำยางจากต้น)[1],[3]
- ต้นมีรสเฝื่อน ใช้ต้มแช่รักษาอาการบาดเจ็บ (ต้น)[1]
- ต้นใช้ตำพอกเป็นยาแก้ปวดบวม (ต้น)[1]
- ต้นใช้ตำทาแก้อาการปวดกระดูก กระดูกเดาะ (ต้น)[1]
- ใช้น้ำยางจากต้นนำมาถูผิวหนังบริเวณที่กระดูกแตกหัก เชื่อว่าจะช่วยเชื่อมกระดูกได้ (น้ำยางจากต้น)[1],[2]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรพญาไร้ใบ
- ยางจากต้นพญาไร้ใบมีพิษ เมื่อสัมผัสกับน้ำยางสีขาวจากต้นจะทำให้ผิวหนังอักเสบ บวมเป็นผื่นแดง ทำให้เกิดอาการคัน และเป็นอันตรายเมื่อเข้าตา อาจทำให้ตาบอดได้[1],[2],[3]
- ในน้ำยางมีสาร 4-deoxyphorbol และอนุพันธ์ ซึ่งมีฤทธิ์ระคายเคืองอย่างแรงและยังเป็นสารร่วมก่อมะเร็ง จึงควรระมัดระวังในการนำมาใช้[3]
การรักษาพิษของพญาไร้ใบ
- พิษระคายเคืองต่อผิวหนัง น้ำยางสีขาวจากต้นมีสารพิษชื่อว่า Phorbol derivative หากสัมผัสจะมีอาการปวด ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดง บวมพองเป็นตุ่มน้ำ ถ้าเข้าตาจะทำให้เยื่อบุตาอักเสบและตาบอดชั่วคราว[5]
- วิธีการรักษา
- ให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์
- ทาด้วยครีมสเตียรอยด์
- ทานยาแก้แพ้ (เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlopheniramine) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร)
- ประคบด้วยน้ำเย็นจัดบริเวณที่มีอาการประมาณ 30 นาที
- ถ้ายางเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วหยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว[5]
- วิธีการรักษา
- พิษระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ มีอาการอาเจียน และถ่ายท้องอย่างรุนแรง ม่านตาหด หากได้รับมากอาจทำให้สั่นและเสียชีวิตได้[5]
- วิธีการรักษา
- ให้รีบทำให้อาเจียนแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้อง
- ดื่มน้ำนมหรือไข่ขาว เพื่อช่วยเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้
- ดื่มน้ำเกลือผงละลายน้ำ หรือให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือด เพื่อช่วยชดเชยน้ำที่เสียไป
- ต้องรับประทานอาหารอ่อน ๆ จนกว่าอาการจะทุเลา[5]
- วิธีการรักษา
ประโยชน์ของพญาไร้ใบ
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตกแต่งสวน
- น้ำยางสีขาวมีพิษ จึงใช้ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ เช่น เพลี้ยอ่อน มอดแป้ง แมลงวันทอง หนอนกระทู้ผัก และช่วยป้องกันแมลงในโรงเก็บ และยังสามารถช่วยยับยั้งการฟักไข่ของด้วงถั่วเขียวได้อีกด้วย[4]
- นอกจากนี้ยังใช้เป็นสมุนไพรป้องกันและกำจัดหอยเชอรี่ในนาข้าวได้อีกด้วย โดยให้เตรียมพญาไร้ใบ 3 กิโลกรัม, น้ำ 10 ลิตร, กากน้ำตาล 0.5 ลิตร นำส่วนผสมทุกอย่างมาหมักรวมกัน ปิดถังหมักทิ้งไว้ในร่ม 1 เดือน ส่วนวิธีการใช้ให้ปล่อยไปตามน้ำหรือเทราดตามข้างนาจำนวน 1 ลิตร ต่อไร่ (หรืออาจมากกว่านั้น) ก็จะช่วยกำจัดหอยเชอรี่ได้โดยไม่มีผลกระทบหรือเป็นอันตรายใด ๆ ต่อต้นข้าวเลย[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “พญาไร้ใบ (Phaya Rai Bai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 189.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “พญาไร้ใบ”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 139.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “พญาไร้ใบ Milk Bush”. หน้า 109.
- สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พญาไร้ใบ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [30 เม.ย. 2014].
- ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “พญาไร้ใบ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [30 เม.ย. 2014].
- ศูนย์ทางด่วนข้อมูลการเกษตร เครือข่ายสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จังหวัดสระบุรี. (ข้อมูลจาก : คุณบุญลือ เต้าแก้ว).
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by titanium22, Shang-Han Chang, Jeff Hamm, David Midgley)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
ที่มา : https://medthai.com/%E0%B8%9E%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%9A/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น