19. ต้อยติ่ง Ruellia tuberosa L.

ต้อยติ่ง Ruellia tuberosa L.


ต้อยติ่ง

ต้อยติ่ง ชื่อสามัญ Waterkanon, Watrakanu, Minnieroot, Iron root, Feverroot, Popping pod, Cracker plant, Trai-no, Toi ting จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
ต้อยติ่งฝรั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ruellia tuberosa L. มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ต้อยติ่งเทศ, ต้อยติ่งน้ำ, ต้นอังกาบ, อังกาบฝรั่ง, เป๊าะแป๊ะ เป็นต้น
ต้อยติ่งไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Hygrophila erecta (Burm.f.) Hochr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hygrophila phlomoides var. roxburghii C.B. Clarke) ส่วนอีกข้อมูลระบุชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hygrophila ringens var. ringens (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hygrophila quadrivalvis (Buch.-Ham.) Nees) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ต้อยติ่งนา (กรุงเทพ), น้ำดับไฟ (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น
ต้อยติ่ง มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ต้อยติ่งไทย เป็นต้อยติ่งดั้งเดิมของบ้านเรา ซึ่งในปัจจุบันจะพบเห็นได้น้อยลงทุกที และอีกชนิดคือ ต้อยติ่งฝรั่ง เป็นชนิดที่พบเห็นได้ทั่วไปในช่วงฤดูฝน ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อน ทั้งสองชนิดจะมีลักษณะของดอกที่คล้ายคลึงกัน แต่จะแตกต่างกันตรงส่วนของใบ ซึ่งใบของต้นต้อยติ่งฝรั่งจะมีขนาดเล็กกว่าต้อยติ่งไทย แต่ต้อยติ่งฝรั่งจะโตเร็วกว่าต้อยติ่งไทย
ต้อยติ่งชนิดที่ออกดอกเป็นสีม่วงคราม สีชมพู หรือดอกสีขาว จะพบได้ไม่บ่อยนัก ซึ่งชนิดนี้เราจะเรียกว่าต้อยติ่งฝรั่ง ลักษณะของใบจะเรียวยาวแคบ สรรพคุณทางยาของต้อยติ่งฝรั่งโดยรวมแล้วจะคล้ายคลึงกับต้อยติ่งไทย

ลักษณะของต้อยติ่งฝรั่ง

  • ต้นต้อยติ่ง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีลำต้นสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร (ถ้าเป็นต้อยติ่งไทยจะมีความสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตร) ตามลำต้นจะมีขนอ่อน ๆ ขึ้นปกคลุมอยู่เล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้ที่ขึ้นได้ง่ายตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป สามารถเพาะปลูกได้ง่าย จึงนิยมนำมาปลูกไว้ตามหน้าบ้าน
ต้นต้อยติ่ง
  • ใบต้อยติ่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อของลำต้น แผ่นใบมีสีเขียว ลักษณะใบเป็นรูปมนรี ปลายใบมน โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจักและอาจมีคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 นิ้ว และยาวประมาณ 2.5-3 นิ้ว
  • ดอกต้อยติ่งฝรั่ง ออกดอกเป็นช่อหรือบางทีออกเป็นดอกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบบริเวณส่วนยอดของต้น ดอกเป็นสีม่วง ดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวย ปลายดอกแยกออกเป็น 5 กลีบ กลางดอกมีเกสร 4 ก้าน แบ่งเป็นก้านสั้น 2 ก้านและก้านยาว 2 ก้าน
ดอกต้อยติ่งดอกต้อยติ่งฝรั่ง
  • ผลต้อยติ่ง หรือ ฝักต้อยติ่ง (เม็ดเป๊าะแป๊ะเมล็ดต้อยติ่ง) ผลมีลักษณะเป็นฝักยาว มีความยาวได้ประมาณ 1 นิ้วกว่า ถ้าฝักได้รับความชื้นหรือถูกน้ำมาก ๆ ก็จะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดอยู่ 8 เมล็ด
ดอกต้อยติ่งเทศเม็ดเป๊าะแป๊ะ
สมุนไพรต้อยติ่ง จัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่มีดอกสวยงามที่คนส่วนใหญ่จะคุ้นตากันอยู่บ้าง ยิ่งในหน้าฝนต้อยติ่งจะออกดอกสีม่วงบานสะพรั่งไปทั่วริมทางหรือบริเวณริมสระน้ำ ยิ่งใบสีเขียวเข้มของมันยิ่งช่วยขับให้ดอกดูมีความโดดเด่นยิ่งนัก หลาย ๆ คนอาจชมความงามของมันในฐานะที่มันเป็นวัชพืช ตอนเด็ก ๆ เรามักใช้ใบไม้ ดอกไม้ นำมาทำเป็นของเล่นเพื่อความสนุกสนาน ต้อยติ่งก็เช่นกัน โดยจะเก็บเมล็ดแก่ ๆ ใช้น้ำหยดแล้วขว้างใส่กันสนุกสนานเหมือนกับการเล่นปาระเบิด เสียงดังเปรี๊ยะ…ปร๊ะ ซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่คุณรู้หรือไม่ว่าวัชพืชที่ว่านี้ไม่ใช่วัชพืชที่ไร้ประโยชน์ เพราะต้อยติ่งสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรในการรักษาโรคต่าง ๆ ได้อีกมากมาย ไปดูกันเลย…

สรรพคุณของต้อยติ่ง

  1. รากใช้เป็นยารักษารักษาโรคไอกรน (ราก)
  2. รากใช้เป็นยาขับเลือด (ราก)
  3. รากต้อยติ่งสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคไตได้ (ราก)
  4. รากช่วยดับพิษในร่างกาย (ราก)
  5. ช่วยทำให้อาเจียน (ราก)
  1. ใบใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (ใบ)
  2. รากหากนำมาใช้ในปริมาณที่เจือจางสามารถช่วยจำกัดสารพิษในเลือดได้ (ราก)
  3. ช่วยบรรเทาอาการสารพิษตกค้างในปัสสาวะ (ราก)
  4. ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ (ราก)
  5. ใบใช้พอกแก้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ (ใบ)
  6. เมล็ดใช้พอกฝีเพื่อดูดหนองและช่วยลดการอักเสบ (เมล็ด)
  7. เมล็ดใช้พอกแผลเรื้อรัง ช่วยสมานบาดแผล แผลมีฝ้ามีหนอง และช่วยเรียกเนื้อ (เมล็ด)
  8. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น (เมล็ด)
  9. เมล็ดช่วยแก้อาการผดผื่นคัน (เมล็ด)
  10. ต้อยติ่งทั้งต้นเอาชนิดที่ไม่แก่ ดอกยังไม่ร่วงโรย นำมาถอนเอาทั้งรากไม่ให้รากขาดและอย่าให้เมล็ดแตก ประมาณ 4-5 ต้น แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด โขลกต้นเอาแต่น้ำมาดื่ม จะช่วยแก้อาการปวดเข่า ขาชา ร้าวลงได้ ซึ่งใช้เวลาในการรักษาเพียง 7 วันก็หาย (ทั้งต้น)
  11. รากใช้ผสมเป็นยาแก้พิษ ดับพิษ และทำเป็นยาเบื่อ (ราก)

ประโยชน์ของต้อยติ่ง

  • ฝักใช้เป็นของเล่นของเด็ก ๆ ด้วยการสะสมฝักแก่จัด (สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ) เก็บไว้ในที่แห้ง เมื่อมีโอกาสก็นำมาจุ่มน้ำ (หรือน้ำลาย) แล้วเอาไปโยนใส่เพื่อน ๆ สักพักหนึ่งฝักก็จะแตกตัวออกดังแป๊ะ พร้อมกับดีดเมล็ดออกโดยรอบ ทำให้เพื่อนตกใจหรือเจ็บ ๆ คัน ๆ หรือบางครั้งก็แอบเอาไปใส่ในกระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกง หรือแม้แต่คอเสื้อ ซึ่งแม้จะรู้ตัวแต่ก็มักจะเอาออกไม่ทัน ฝักก็จะแตกออกเสียก่อน (ฝัก)
แหล่งอ้างอิง : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5, ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, เว็บไซต์ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (เดชา ศิริภัทร), หนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2516, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
ภาพประกอบ : www.magnoliathailand.com (Magnolia Hybrid, George), www.4toart.com, www.icido.bloggang.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)

ที่มา : https://medthai.com/%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ึ7. ข่าแดง Achasma sphaerocephalum Holtt.

28. ธรรมรักษา Heliconia psittacorum L.f.

29. บัวหลวง Nelumbo nucifera Gaertn.