8.ทานตะวัน Helianthus annuus

ทานตะวัน Helianthus annuus
ดอกทานตะวันภายในสวน

ทานตะวัน

ทานตะวัน ชื่อสามัญ Common sunflower, Sunflower, Sunchoke
ทานตะวัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Helianthus annuus L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2]

สมุนไพรทานตะวัน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บัวทอง บัวตอง ทานตะวัน (ภาคเหนือ), บัวผัด บัวทอง (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ), ชอนตะวัน ทานตะวัน(ภาคกลาง), ทานหวัน (ภาคใต้), เซี่ยงยื่อขุย[3] เซี่ยงยื้อขุย[4] (จีนกลาง), เหี่ยงหยิกขุ้ย (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[1],[3],[4],[8]
การที่ได้ชื่อว่า “ทานตะวัน” นั่นเป็นเพราะลักษณะการหันของช่อดอกและใบนั้นจะหันไปตามทิศทางของดวงอาทิตย์ โดยในตอนเช้าจะหันไปทางทิศตะวันออก และในช่วงเย็นจะหันไปทางทิศตะวันตกตามดวงอาทิตย์ แต่การหันจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ หลังมีการผสมเกสรแล้วไปจนถึงช่วงดอกแก่ ซึ่งช่อดอกจะหันไปทางทิศตะวันออกเสมอ[8]

ลักษณะของทานตะวัน

  • ต้นทานตะวัน มีถิ่นกำเนิดและเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา[5] โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 3-3.5 เมตร ลำต้นตั้งตรงเป็นสีเขียวแกนแข็ง ไม่มีการแตกแขนง (ยกเว้นบางสายพันธุ์) ตามต้นมีขนยาวสีขาวค่อนข้างแข็งปกคลุมตลอด[1],[3],[8] ส่วนรากเป็นระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดินประมาณ 150-270 เซนติเมตร มีรากแขนงค่อนข้างแข็งแรงและแผ่ขยายไปทางด้านข้างได้ถึง 60-150 เซนติเมตร เพื่อช่วยในการค้ำจุนต้นและสามารถใช้ความชื้นระดับผิวดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ[8]
ต้นทานตะวัน
  • ใบทานตะวัน ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน หลังจากที่มีใบเกิดแบบตรงกันข้ามได้ 5 คู่แล้ว ใบที่เกิดหลังจากนั้นจะมีลักษณะวน โดยจำนวนของใบบนต้นอาจมีตั้งแต่ 8-70 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม หรือกลมเป็นรูปไข่ หรือเป็นรูปหัวใจ และสีของใบอาจมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียว และเขียวเข้ม (แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์) ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 9-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบหยาบและมีขนสีขาวทั้งสองด้าน มีก้านใบยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำปานกลาง ชอบแสงแดดจัดเพราะเป็นไม้กลางแจ้ง[1],[3],[4],[6],[8]
ใบทานตะวัน
  • ดอกทานตะวัน ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกที่ปลายยอด ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกมีขนาดใหญ่เป็นสีเหลืองเข้ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 25-30 เซนติเมตร มีกลีบดอกเป็นจำนวนมากเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายกลีบดอกแหลมเป็นสีเหลืองสด ส่วนด้านในคือช่อดอก มีลักษณะเป็นจาน ประกอบไปด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลางดอกมีเกสรสีน้ำตาลอมสีม่วงและภายในมีผลจำนวนมาก ดอกมีเกสรเพศเมียอยู่ตรงกลาง 1 อัน ส่วนเกสรเพศผู้มี 5 อัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว[1],[3],[5]
ทุ่งดอกทานตะวัน
ภาพดอกทานตะวัน
ดอกทานตะวัน
รูปดอกทานตะวัน
  • ผลทานตะวัน (หรือโดยทั่วไปเรียกว่า “เมล็ดทานตะวัน“) ผลเป็นผลแห้งและมีจำนวนมากอยู่ตรงฐานดอก ผลขนาดใหญ่จะอยู่วงรอบนอก ส่วนผลที่อยู่ใกล้กับกึ่งกลางจะมีขนาดเล็ก ผลมีลักษณะเป็นรูปรีและแบนนูน ด้านหนึ่งมน อีกด้านหนึ่งแหลม ผลมีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร เปลือกหุ้มผลแข็ง เปลือกผลเป็นสีเทาเข้มหรือสีดำและเป็นลาย ภายในผลมีเมล็ดสีเหลืองอ่อนเพียง 1 เมล็ด ลักษณะรียาว และในเมล็ดพบว่ามีน้ำมันเป็นจำนวนมาก[1],[3],[4],[8] โดยผลหรือเมล็ดทานตะวันจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ เมล็ดที่ใช้สกัดทำน้ำมัน (ผลเล็ก สีดำ เปลือกบาง), เมล็ดที่ใช้กิน (ผลใหญ่ เปลือกหนาไม่ติดกับเนื้อในเมล็ด) และเมล็ดที่ใช้สำหรับเลี้ยงนกหรือไก่[8]
ผลทานตะวัน
เมล็ดทานตะวัน

สรรพคุณของทานตะวัน

  1. น้ำมันจากเมล็ดทานตะวันมีรสร้อน สามารถช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือดได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[4]
  2. ใบทานตะวันมีรสเฝื่อน เป็นยาแก้เบาหวาน (ใบ)[2],[4]
  3. เมล็ดช่วยลดความดันโลหิต (เมล็ด)[3] หรือจะใช้แกนหรือไส้ของลำต้นทานตะวันนำมาต้มกับน้ำดื่ม (แกนต้น)[2] หรือจะใช้ใบทานตะวันสด 60 กรัม (ถ้าใบแห้งใช้ 30 กรัม) และโถวงู่ฉิกสด 60 กรัม (ถ้าแห้งใช้ 30 กรัม) นำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม (ใบ)[4]ส่วนอีกวิธีเป็นการทดลองกับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 10 คน ด้วยการใช้ฐานรองดอกแห้งประมาณ 45 กรัมนำมาบดให้ละเอียดแล้วทำเป็นยาน้ำเชื่อม 100 มิลลิลิตร นำมาให้ผู้ป่วยกินครั้งละ 20 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง พบว่าหลังจากการศึกษาแล้ว 60 วัน ความดันโลหิตของผู้ป่วยลดลง โดยมีอาการดีขึ้น 4 คน และมีอาการดีขึ้นเล็กน้อย 4 คน ส่วนอีก 2 คน ไม่มีอาการดีขึ้นเลย (ฐานรองดอก)[4]
  4. ช่วยทำให้อวัยวะภายในร่างกายชุ่มชื้น (เมล็ด)[3]
  5. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ตาลาย ด้วยการใช้ฐานรองดอกแห้งประมาณ 25-30 กรัมนำมาตุ๋นกับไข่ 1 ฟอง ใช้กินหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง (ดอก, ฐานรองดอก, ดอกและฝัก)[2],[3],[4]
  6. เปลือกเมล็ดมีรสเฝื่อน ช่วยแก้อาการหูอื้อ ด้วยการใช้เปลือกเมล็ดทานตะวันประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกเมล็ด)[2],[4]
  7. ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ดอกแห้ง 25 กรัม นำมาสูบเหมือนยาสูบ หรือจะใช้ฐานรองดอก 1 อันและรากเกากี้นำมาตุ๋นกับไข่รับประทาน (ดอก, ฐานรองดอก, ดอกและฝัก)[2],[3],[4]
  8. รากและลำต้นเป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (รากและลำต้น)[3]
  9. ใช้เป็นยาแก้หวัด แก้อาการไอ แก้ไข้หวัด หากใช้แก้อาการไอให้ใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เหลือง แล้วนำมาชงกับน้ำดื่ม(เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[4] ส่วนรากและลำต้นก็เป็นยาแก้ไอเช่นกัน (รากและลำต้น)[3]
  10. ช่วยแก้อาการร้อนใน (รากและลำต้น)[3]
  1. แกนหรือไส้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการไอกรนได้ หรือจะใช้แกนกลางของลำต้นนำมาโขลกให้ละเอียด ผสมกับน้ำตาลทรายขาว แล้วนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม (แกนต้น)[2],[4]
  2. ใบ ราก และลำต้นช่วยแก้หอบหืด (รากและลำต้น, ใบ)[2],[3],[4]
  3. ดอกมีรสเฝื่อน เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ (ดอก)[2],[4]
  4. เมล็ด น้ำมันจากเมล็ด ราก และลำต้นมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ ขจัดเสมหะ (รากและลำต้น, เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[3],[4]
  5. ช่วยรักษาเต้านมอักเสบ ด้วยการใช้ฐานรองดอกแห้งนำมาหั่นเป็นฝอย แล้วนำไปคั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด นำมาชงกับน้ำอุ่นหรือเหล้าดื่มครั้งละ 10-15 กรัม วันละ 3 ครั้ง ซึ่งจากการใช้รักษาในผู้ป่วยจำนวน 122 คน พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น (ฐานของดอก)[3],[4]
  6. ช่วยรักษาฝีเต้านม (แกนต้น)[2]
  7. ดอกช่วยขับลม (ดอก)[2],[4]
  8. รากเป็นยาแก้อาการปวดท้อง แน่นหน้าอก (ราก)[1],[4]
  9. รากและลำต้น ฐานรองดอก ดอกและฝักใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้อง (รากและลำต้น, ฐานรองดอก, ดอกและฝัก)[2],[3]
  10. ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะ (แกนต้น, ดอกและฝัก)[2],[3]
  11. ฐานรองดอกมีรสเฝื่อน เป็นยาแก้โรคกระเพาะอาหาร แก้อาการปวดท้องเนื่องจากโรคกระเพาะอักเสบ ด้วยการใช้ฐานรองดอก 1 อัน (หรือประมาณ 30-60 กรัม) และกระเพาะหมู 1 กระเพาะ แล้วใส่น้ำตาลทรายแดง 30 กรัม นำมาต้มกรองเอาแต่น้ำมาดื่ม (ฐานรองดอก)[2],[4]
  12. ช่วยแก้โรคบิด (เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[4] ช่วยแก้บิดถ่ายเป็นเลือด (ดอกและฝัก)[3]
  13. แกนหรือไส้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร (แกนต้น)[2]
  14. ช่วยแก้อาการท้องผูกสำหรับผู้สูงอายุ (ดอกและฝัก)[3]
  15. รากใช้เป็นยาแก้ระบาย (ราก)[4]
  16. รากใช้เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน ด้วยการใช้รากสด 30 กรัม เติมน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)[1],[4]
  17. ราก แกนหรือไส้ลำต้น และน้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (แกนต้น, ราก, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[4]
  18. แกนหรือไส้ของลำต้นมีรสจืดเฝื่อน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับนิ่วในไต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับปัสสาวะได้ดี แก้ปัสสาวะขุ่นขาว แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการใช้แกนกลางของลำต้นยาวประมาณ 60 เซนติเมตร หรือประมาณ 15 กรัม และรากต้นจุ้ยขึ่งฉาวราว 60 กรัม นำมาต้มคั้นเอาแต่น้ำหรือใช้ผสมกับน้ำผึ้งดื่ม (แกนต้น)[2],[4] ส่วนรากและลำต้นเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะปวดแสบปวดร้อน แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (รากและลำต้น)[3]
  19. ช่วยขับหนองใน (เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[4]
  20. ช่วยแก้มุตกิดตกขาวของสตรี (รากและลำต้น)[3]
  21. ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี (ฐานรองดอก, ดอกและฝัก)[2],[3],[4] ใช้แก้อาการปวดท้องน้อยก่อนหรือระยะที่รอบเดือนมา ให้ใช้ฐานรองดอก 1 อัน กระเพาะหมู 1 กระเพาะ ใส่น้ำตาลทรายแดง 30 กรัม แล้วต้มกรองเอาแต่น้ำมาดื่ม(ฐานรองดอก)[4]
  22. ช่วยบีบมดลูก (ดอก)[4]
  23. ช่วยแก้เนื้องอกเยื่อบุผิวถุงน้ำคร่ำ (แกนต้น)[2]
  24. ช่วยแก้อาการมูกโลหิต ด้วยการใช้เมล็ด 30 กรัม ใส่น้ำตาลเล็กน้อย นำมาต้มกับน้ำประมาณ 60 นาที แล้วนำมาใช้ดื่ม (เมล็ด)[4]
  25. เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงตับและไต (เมล็ด)[3]
  26. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (รากและลำต้น)[3]
  27. ใบใช้เป็นยารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ใบ)[3]
  28. หากแผลที่มีเลือดไหล ให้ใช้แกนกลางของลำต้นนำมาโขลกให้ละเอียด แล้วนำมาใช้พอกบริเวณแผล (แกนต้น)[4]
  29. ใช้ทั้งต้นนำมาสกัดทำเป็นขี้ผึ้ง ใช้เป็นยารักษาแผลสดและแผลฟกช้ำ (ทั้งต้น)[3] ส่วนรากช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ราก)[1],[4]
  30. ช่วยแก้อีสุกอีใส (ดอกและฝัก)[3]
  31. ช่วยแก้ฝีฝักบัว (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[4] แก้อาการปวดบวมฝี (ฐานรองดอก)[4]
  32. น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[4]
  33. ใช้แก้ไขข้อกระดูกอักเสบและฝี ด้วยการใช้ดอกทานตะวันสด[3] บ้างระบุว่าใช้ฐานรองดอก[4] ในปริมาณพอดี นำมาต้มเคี่ยวให้ข้นคล้ายกับขี้ผึ้งเหลว แล้วนำมาใช้พอกและทาบริเวณที่เป็น จากการรักษาในผู้ป่วยจำนวน 30 คนพบว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ (ดอก)[3],[4]
  34. ดอกช่วยทำให้หน้าตาสดใส ช่วยรักษาใบหน้าตึงบวม (ดอก)[4]
หมายเหตุ : การใช้ตาม [3] ถ้าเป็นฝักดอกแห้งให้ใช้ครั้งละ 35-100 กรัม แต่ถ้าเป็นรากแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-40 กรัม ส่วนกิ่งและก้านให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของทานตะวัน

  • สารสำคัญที่พบได้แก่ Abscisic acid, Beta-carotene, Citric acid, Coumaric acid,Cumin alcohol, Cyamidin, Glycoside, Glandulone A, B gibberellin A, Vanillin, Vitamin B2[2]
  • ทั้งต้นพบว่ามีสาร Cryptoxanthin, Earotenoids, Globulin, Glycocoll, Quercimeritin, Phospholipid Methionine, Seopoline Heliangine, Tocopherol ส่วนในเมล็ดพบโปรตีน 55%, ออกไซด์คาร์บอเนต 41.6%, น้ำมันประมาณ 55% และในน้ำมันพบสาร Linoleic acid 70%, Glycerol oil, Phosphatide, Phospholipid, B-Sitosterol และพบน้ำมันระเหยอีกหลายชนิด[3],[4] ส่วนเปลือกเมล็ดพบน้ำมัน 5.17%, โปรตีน 4%, ขี้ผึ้ง 2.96% และยังมี Cellulose, Pentosan, และ Lignin[4]
  • ทานตะวันมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง ยับยั้งการก่อมะเร็ง ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.1971 บูดาเปสได้ทำการศึกษาทดลองผลการลดไขมันในเลือดของน้ำมันจากเมล็ดทานตะวันในหนูทดลอง พบว่าสาร Cephalin B, Cephalin A lysocepphalin, lecithin และ lysolecithin มีผลในการช่วยลดไขมันในเลือด[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.1999 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองศึกษาผลในการลดไขมันในเลือดของเมล็ดทานตะวันในหนูขาวทดลอง โดยทำการทดลองนานถึง 9 สัปดาห์ โดยกระตุ้นให้หนูขาวเป็นเบาหวาน โดยให้ Alloxan และให้น้ำมันดอกทานตะวัน หลังจากการทดลองพบว่าไขมันในเลือดมีระดับลดลง[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.2003 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาทดลองผลในการลดไขมันของเมล็ดทานตะวัน โดยทำการทดลองในหนูเพศผู้จำนวน 60 ตัว และแบ่งกลุ่มการทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุมที่ให้อาหารไขมัน 1% ส่วนกลุ่มที่สอง ให้เมล็ดองุ่น 10 gm. และกลุ่มที่สามให้น้ำมันดอกทานตะวัน 1 gm. และได้ทำการทดลอง 4 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่สามที่ให้น้ำมันดอกทานตะวันสามารถลดไขมันได้มากกว่ากลุ่มที่สอง[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาทดลองผลการลดไขมันในเลือดของทานตะวันในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนจำนวน 14 คน โดยทำการทดลอง 28 วัน แบ่งกลุ่มการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มควบคุม ส่วนกลุ่มที่สองให้น้ำมันมะกอกผสมกับน้ำมันเมล็ดทานตะวัน และกลุ่มสามคือกลุ่มที่ให้อาหารไขมันสูง ภายหลังการทดลองพบว่ากลุ่มที่สองมีระดับคอเลสเตอรอลลดลงแตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P < 0.05[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาทดลองผลในการลดไขมันในเลือดของเมล็ดทานตะวัน โดยทำการทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 31 คนที่มีอายุระหว่าง 25-64 ปี แบ่งเป็นชาย 12 คน และหญิง 19 คน และมีระดับไขมันในเลือด 294 mg./dl. ซึ่งได้ทำการทดลอง 4 สัปดาห์ โดยให้น้ำมันดอกทานตะวัน 8.3% และ 7.9% ผลการทดลองพบว่าคอเลสเตอรอลในเลือดมีระดับลดลง[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศรัสเซีย ได้ทำการศึกษาทดลองผลในการลดไขมันของเมล็ดทานตะวัน โดยทำการทดลองในหนูขนาด 180-200 gm. ที่ถูกกระตุ้นให้ไขมันในเลือดสูง โดยให้น้ำมันดอกทานตะวัน 1 ซีซีต่อวัน และใช้ n-6 fatty acid fish oil 1 ซีซีต่อวัน และ Znso 0.43 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน โดยทำการทดลองนาน 6 สัปดาห์ ภายหลังการทดลองพบว่าระดับของคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง[2]
  • ในเมล็ดทานตะวันพบว่ามีสารฟอสโฟลิพิด (Phospholipids) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดของหนูทดลองได้ แต่ผลการรักษายังไม่ชัดเจนนัก[3],[4]
  • ดอกเมื่อนำมาสกัดจะได้น้ำจากใบ แล้วนำมาใช้ทดลองกับกระต่ายทดลองด้วยวิธีการฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ พบว่าจะทำให้ความดันโลหิตต่ำและกระตุ้นการหายใจ นอกจากนี้เมื่อนำมาหยอดลงบริเวณใบหูของกระต่ายก็ว่าทำให้เส้นเลือดขยายตัวขึ้น และยังทำให้การบีบตัวของลำไส้เล็กเพิ่มขึ้นอีกด้วย แต่เมื่อนำมาทดลองกับแมวด้วยวิธีการฉีดเข้าในผิวหนัง พบว่าจะมีผลทำให้ความดันโลหิตลดลงกว่าเดิม[4]
  • ฐานรองดอกเมื่อนำมาสกัดสารออกด้วยแอลกอฮอล์แล้วนำมาใช้ทดลองกับแมวด้วยวิธีการฉีดเข้าไปในเส้นเลือดดำ พบว่ามีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำและทำให้แมวสลบ[4]
  • น้ำมันจากดอกทานตะวันเมื่อนำมาใช้ผสมกับอาหารแล้วให้กระต่ายทดลองกิน พบว่ามีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อวัณโรคมีมากขึ้น[4]
  • สารสกัดจากดอกทานตะวันเมื่อนำมาทดลองกับกระต่าย พบว่าสามารถทำให้เส้นเลือดมีการขยายตัวและไปกระตุ้นระบบประสาท ส่วนเรื่องการหายใจพบว่าทำให้กระต่ายหายใจแรงขึ้น แต่มีความดันลดลง และเห็นได้ชัดเจนว่า ลำไส้เล็กของกระต่ายมีการบีบตัวมากขึ้น จึงได้มีการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการลำไส้หย่อนหรือลำไส้ไม่มีกำลัง[3]
  • สารสกัดจากใบทานตะวันด้วยแอลกอฮอล์ 0.2% สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ โดยสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย Bacillus aureus และพารามีเซียม (Paramecium) ได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรีย Bacillus coli และนอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้เป็นยาต้านโรคมาลาเรียและช่วยเสริมฤทธิ์ของยาควินินได้อีกด้วย[3],[4]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษพบว่าสารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินด้วย 50% เอทานอล มีค่า LD50 มากกว่า 1.0 กรัมต่อกิโลกรัมเมื่อทำการฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร[2]

ประโยชน์ของทานตะวัน

  1. เมล็ดทานตะวันนำมาคั่วให้แห้งใช้กินเป็นอาหารว่างได้[2] หรือจะนำมาอบหรือใช้ปรุงแต่งขนมหวาน เป็นคุกกี้ทานตะวัน ทานตะวันแผ่น หรือใช้ทำเป็นแป้งประกอบอาหารก็ได้[8],[13] อีกทั้งเมล็ดยังเป็นแหล่งโปรตีนที่ใช้แทนเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี และเมื่อนำมาบดจะได้แป้งสีขาว มีไขมันสูงและมีโปรตีนมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณแป้ง นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็กสูงไม่แพ้ธาตุเหล็กที่ได้จากไข่แดงหรือตับของสัตว์อีกด้วย จึงเหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่กินมังสวิรัติ (การเลือกเมล็ดทานตะวันต้องเลือกที่ยังใหม่ ๆ และไม่มีกลิ่นเหม็นหืน โดยสังเกตได้จากเปลือกหุ้มเมล็ดจะต้องมีสีเทา ไม่เป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล)[10] ว่ากันว่าหากใช้เมล็ดทานตะวันในการเลี้ยงไก่จะช่วยทำให้แม่ไก่ออกไข่มาก[12]
  2. เมล็ดทานตะวันมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยประกอบไปด้วยโปรตีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส อีกทั้งยังมีวิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินอี และวิตามินเค โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินอีจะมีมากกว่าพืชชนิดอื่น ๆ (มากกว่าเมล็ดถั่วเหลืองและเมล็ดข้าวโพดกว่า 3 เท่า) โดยประโยชน์ของวิตามินอีนั้นจะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยรักษาผิวพรรณให้แลดูสดใส เยาว์วัย ช่วยทำให้ระบบสืบพันธุ์เป็นปกติ ช่วยลดไขมันในหลอดเลือด ช่วยป้องกันหัวใจวาย ช่วยบำรุงสายตา และยังอาจช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกด้วยก็เป็นได้ (พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต)[9] นอกจากนี้เมล็ดทานตะวันยังช่วยป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้น และช่วยป้องกันและต่อต้านสารเคมีที่เป็นพิษที่จะก่อให้เกิดมะเร็งในปาก[14]
  3. เมล็ดทานตะวันสามารถนำมาเพาะเป็นทานตะวันอ่อน (ต้นอ่อนทานตะวัน) หรือทานตะวันงอก (เมล็ดทานตะวันงอก) มีรสหวานกรอบ โดยสามารถนำมาใช้ทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ยำต้นอ่อนทานตะวัน สลัดต้นอ่อนทานตะวัน ผัดน้ำมันหอย แกงจืด แกงส้ม ใช้ใส่ในก๋วยเตี๋ยวแทนถั่วงอก หรือทำเป็นผักจิ้มน้ำพริกก็ยังได้ ฯลฯ หรือจะนำมาปั่นเป็นน้ำผักดื่มก็จะได้น้ำผักที่มีสีเขียวเข้มและมีกลิ่นหอม (แต่ควรดื่มตอนท่องว่าง ก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง ก็จะได้ประโยชน์มาก) โดยเป็นอาหารที่ย่อยง่ายและยังมีประโยชน์ที่ไม่ธรรมดา โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า ต้นอ่อนของเมล็ดทานตะวันมีโปรตีนมากกว่าถั่วเหลือง มีวิตามินเอและวิตามินอีสูง จึงช่วยบำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณ ช่วยในการชะลอวัย มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 โอเมกา 3 โอเมกา 6 โอเมกา 9 ที่ช่วยบำรุงเซลล์สมองและช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ และยังมีธาตุเหล็กสูงและช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้อีกด้วย[11]
  4. น้ำมันทานตะวันหรือน้ำมันจากเมล็ดทานตะวันน้ำมันดอกทานตะวัน สามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้ เช่น การนำมาผัด หรือนำมาปรุงน้ำสลัด มีบางส่วนที่นำมาใช้บริโภคเป็นน้ำมันและเครื่องสำอาง[2]
  5. น้ำมันจากเมล็ดทานตะวันเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูง โดยมีน้ำมันไม่อิ่มตัวสูงกว่าร้อยละ 90 ซึ่งร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ (ช่วยลดคอเลสเตอรอลที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็ง) และยังประกอบไปด้วยวิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเคอีกด้วย เมื่อเก็บไว้เป็นเวลานานก็ไม่เกิดกลิ่นหืน อีกทั้งยังทำให้สี กลิ่น และรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากจะนำมาใช้เป็นน้ำมันพืชแล้ว ยังนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ทำเนยเทียม น้ำมันสลัด ครีม นมที่มีไขมัน และอาหารอีกหลายชนิด นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสี ฟอกสี ทำสบู่ น้ำมันชักเงา น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ ทำฟิล์ม ใช้ในการฟอกหนัง เคลือบผิวผลไม้ในลักษณะขี้ผึ้ง เช่น การทำเทียนไข หรือเครื่องสำอาง[5],[8],[7],[10],[13],[14] บ้างใช้เป็นน้ำมันนวด หรือใช้เป็นส่วนผสมของครีมนวดผม หรือผสมในโลชันบำรุงผิว (เนื่องจากมีวิตามินอีสูง)
  6. กากจากเมล็ดทานตะวันหลังการสกัดเอาน้ำมันจะมีโปรตีนอยู่ประมาณ 30-40% สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงได้ และยังใช้เป็นแหล่งแคลเซียมสำหรับปศุสัตว์ได้เป็นอย่างดี แต่จะมีปริมาณของกรดอะมิโนอยู่เพียงเล็กน้อยและขาดไลซีน จึงต้องนำมาใช้อย่างรอบคอบเมื่อจะนำไปผสมเป็นอาหารสัตว์ที่มิใช่สัตว์เคี้ยวเอื้อง[5],[10]นำมาใช้ทำ Lecithin เพื่อใช้ในทางการแพทย์ในการช่วยลดคอเลสเตอรอลในคนไข้ที่มีคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด[14]
  7. รากของต้นทานตะวันสามารถนำมาใช้ทำเป็นแป้งเค้ก สปาเกตตีได้ อีกทั้งรากยังมีวิตามินบี 1 และแร่ธาตุอีกหลายชนิด แพทย์ยังแนะนำให้ใช้รากของต้นทานตะวันประกอบอาหารสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานอีกด้วย[10]
  8. คนจีนจะนิยมใช้ใบทานตะวันแห้งมามวนเป็นแท่งขนาดใหญ่ แล้วนำมาจุดเพื่อรมให้จุดฝังเข็มร้อนขึ้น ซึ่งเป็นการรักษาแบบฝังเข็มแบบประยุกต์ โดยมีการใช้มานานเกือบพันปีแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะนิยมใช้โกฐจุฬาลัมพามามวนเป็นยารมมากกว่า[12]
  9. กลีบดอกสามารถนำมาต้มแล้วใช้ย้อมสีผ้าได้ โดยจะให้สีเหลือง[12]
  10. คนจีนจะใช้เส้นใยที่ได้จากก้านมาทอเพื่อใช้ทำเป็นผ้าเนื้อหยาบ[12]
  11. เปลือกของลำต้นทานตะวันมีลักษณะคล้ายเยื่อไม้ จึงนำมาใช้ทำกระดาษสีขาวที่มีคุณภาพดีได้[10]
  12. ลำต้นหรือจานดอกเมื่อนำไปเผาให้เป็นขี้เถ้าแล้ว สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมการหลอมเหล็กได้[13]
  13. ลำต้นยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงได้ อีกทั้งเมื่อทำการไถกลบก็จะกลายเป็นปุ๋ยที่ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินได้เป็นอย่างดี[10],[13] หรือจะนำทุกส่วนของต้นทานตะวันที่แห้งแล้ว นำไปเผาก็จะกลายเป็นปุ๋ยโพแทสเซียมที่ใช้ในการเกษตรได้[12]
  14. ทานตะวันเป็นพืชที่มีบทบาทมากในการช่วยฟื้นฟูดิน เพราะต้นทานตะวันสามารถสะสมสารตะกั่วได้ 0.86 mg./kg. เมื่อเลี้ยงแบบไฮโดรโพนิกส์ และยังช่วยส่งเสริมการย่อยสลายคาร์โบฟูรานได้ 46.71 mg./kg.[7]
  15. เนื่องจากดอกทานตะวันจะไม่ผสมเกสรในต้นเดียวกัน จึงต้องอาศัยผึ้งหรือแมลงบางชนิดนำละอองเกสรจากดอกอื่นมาช่วยในการผสมพันธุ์ จึงจะได้เมล็ดที่สมบูรณ์ เลยทำให้เกิดอาชีพเลี้ยงผึ้งควบคู่ไปกับการปลูกต้นทานตะวันไปด้วยในหลายท้องที่[5]
  16. ทานตะวันเป็นพรรณไม้ที่นิยมนำมาปลูกเป็นประดับ ส่วนดอกนำมาใช้จัดในงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานแต่ง หรือนำมาใช้จัดเป็นแจกันดอกไม้เพื่อความสวยงาม และยังนิยมนำไปใช้ในการเยี่ยมคนป่วย เพราะจะทำให้รู้สึกสดใส[4]
ทานตะวันงอก

คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดทานตะวันอบแห้ง ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 584 กิโลแคลอรี 29%
  • คาร์โบไฮเดรต 20 กรัม 15%
  • โปรตีน 20.78 กรัม 37%
  • ไขมัน 51.46 กรัม 172%
  • ใยอาหาร 8.6 กรัม 23%
  • วิตามินเอ 50 หน่วยสากล 1.6%
  • วิตามินบี 1 1.480 มิลลิกรัม 123%
  • วิตามินบี 2 0.355 มิลลิกรัม 27%
  • วิตามินบี 3 8.335 มิลลิกรัม 52%
  • วิตามินบี 5 1.130 มิลลิกรัม 22%
  • วิตามินบี 6 1.345 มิลลิกรัม 103%
  • วิตามินบี 9 227 ไมโครกรัม 57%
  • วิตามินซี 1.4 มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินอี 35.17 มิลลิกรัม 234%
  • ธาตุแคลเซียม 78 มิลลิกรัม 8%
  • ธาตุเหล็ก 5.25 มิลลิกรัม 63%
  • ธาตุแมกนีเซียม 325 มิลลิกรัม 81%
  • ธาตุแมงกานีส 1.950 มิลลิกรัม 85%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 660 มิลลิกรัม 94%
  • ธาตุโพแทสเซียม 645 มิลลิกรัม 14%
  • ธาตุโซเดียม 9 มิลลิกรัม 1%
  • ธาตุสังกะสี 5.00 มิลลิกรัม 45%
  • ธาตุทองแดง 1.800 มิลลิกรัม 200%
  • ธาตุซีลีเนียม 53 ไมโครกรัม 96%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรทานตะวัน

  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน[3]

ทุ่งทานตะวัน

  • ทุ่งดอกทานตะวัน ตั้งอยู่บริเวณเขตติดต่อระหว่างจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี ตามเส้นทางสายพัฒนานิคม-วังม่วง ซึ่งจะมีการทำไร่ทานตะวันกันมากในช่วงฤดูหนาว หรือในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และดอกทานตะวันจะบานสะพรั่งในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญในประเทศไทย คือ จังหวัดลพบุรี (ปลูกทานตะวันประมาณ 200,000-300,000 ไร่) โดยแหล่งปลูกทานตะวันในจังหวัดลพบุรีจะกระจายอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอเมือง อำเภอชัยบาดาลและอำเภอพัฒนานิคม แต่พื้นที่ที่มีการปลูกกันเป็นจำนวนมากคือ บริเวณวัดเวฬุวัน (อำเภอเมือง) นอกจากนี้ยังมีทุ่งทานตะวันที่จังหวัดสระบุรี (อำเภอพระพุทธบาท อำเภอวังม่วง อำเภอมวกเหล็ก อำเภอหนองโดน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอแก่งคอย) และงานทุ่งตะวันบานที่จังหวัดสุพรรณบุรี (ดูได้ที่ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง) (ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม)
รูปทานตะวัน
รูปทุ่งดอกทานตะวัน
รูปทุ่งทานตะวัน
ทุ่งทานตะวัน
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ทานตะวัน (Tan Ta Wan)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 144.
  2. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  “ทานตะวัน”.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  หน้า 107-108.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “ทานตะวัน”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 262.
  4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ทานตะวัน”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 375-379.
  5. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  “ทานตะวัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th/kp6/.  [03 เม.ย. 2014].
  6. การผลิตไม้กระถางและไม้ตัดดอก (PRODUCTION OF POT-PLANTS AND CUT-FLOWERS), ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “ทานตะวัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th/Department/PlantScience/510-111web/510-482web/index.htm. [03 เม.ย. 2014].
  7. Khon Kaen University, Thesis.  “Phytoremediation of Carbofuran Residue in Soil.”.  (Teerakun, M. (2004).
  8. พืชน้ำมัน, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ทานตะวัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/use/oil1.htm. [03 เม.ย. 2014].
  9. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ.  “เมล็ดทานตะวัน”.  (พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [03 เม.ย. 2014].
  10. กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  “ทานตะวัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th/library/html/detail/sunflower/index1.htm.  [03 เม.ย. 2014].
  11. ไทยรัฐออนไลน์.  “ทานตะวันอ่อน..สู้แล้ง ใช้น้ำน้อย..7วันนับเงิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th.  [03 เม.ย. 2014].
  12. นิตยสารขวัญเรือน.  “ทานตะวัน..สารพันสารพัดประโยชน์”.
  13. ทะเบียนพันธุ์ไม้ในโรงเรียน, โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ.  “ทานตะวัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.wattano.ac.th.  [03 เม.ย. 2014].
  14. กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ทานตะวัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ssnet.doae.go.th/ssnet2/Library/plant/sun.htm.  [03 เม.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Anthony Quintano, bochinohito, kithylin, Paul Gallian, Paul Dykes, Rob Greebon, carlogatti, Quimg), pantip.com (by สมาชิกหมายเลข 836251)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
ที่มา : https://medthai.com/%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ึ7. ข่าแดง Achasma sphaerocephalum Holtt.

28. ธรรมรักษา Heliconia psittacorum L.f.

29. บัวหลวง Nelumbo nucifera Gaertn.