29. บัวหลวง Nelumbo nucifera Gaertn.
บัวหลวง Nelumbo nucifera Gaertn.
บัวหลวง
บัวหลวง ชื่อสามัญ Lotus, Sacred lotus, Egyptian lotus
บัวหลวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Nelumbo nucifera Gaertn. จัดอยู่ในวงศ์บัวหลวง (NELUMBONACEAE)[1],[2],[3],[6]
สมุนไพรบัวหลวง มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า โกกระณต, บัว, บัวอุบล, บัวฉัตรขาว, บัวฉัตรชมพู, บัวฉัตรสีชมพู, บุณฑริก, ปุณฑริก, ปทุม, ปัทมา, สัตตบงกช, สัตตบุษย์, โช้ค (เขมร) เป็นต้น[2],[3],[4]
นอกจากนี้บัวหลวงยังมีอยู่ด้วยกันหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งต่างก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามขนาดและลักษณะของดอก ได้แก่
- ดอกสีชมพู จะเรียกว่า โกกระณต ปทุม ปัทมา[3]
- ดอกสีขาว จะเรียกว่า บุณฑริก ปุณฑริก[3]
- ดอกเล็กสีชมพู จะเรียกว่า บัวเข็มชมพู บัวปักกิ่งชมพู บัวหลวงจีนชมพู[3]
- ดอกเล็กสีขาว จะเรียกว่า บัวเข็มขาว บัวปักกิ่งขาว บัวหลวงจีนขาว[3]
- ดอกสั้นป้อมสีชมพูกลีบซ้อน จะเรียกว่า บัวฉัตรสีชมพู บัวสัตตบงกช[3]
- ดอกสั้นป้อมสีขาวกลีบซ้อน จะเรียกว่า บัวฉัตรขาว บัวสัตตบุษย์[3]
ลักษณะของบัวหลวง
- ต้นบัวหลวง จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นมีทั้งเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและเป็นไหลอยู่เหนือดินใต้น้ำ ลักษณะของเหง้าเป็นท่อนยาว มีปล้องสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลือง มีความแข็งเล็กน้อย หากตัดตามขวางจะเห็นเป็นรูปกลม ๆ อยู่หลายรู โดยส่วนของไหลจะเป็นส่วนเจริญไปเป็นต้นใหม่ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียว ในระดับน้ำลึก 30-50 เซนติเมตร และสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดหรือวิธีการแยกไหล มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย[1],[2],[3]
- ใบบัวหลวง ใบเป็นใบเดี่ยว ใบอ่อนจะลอยปริ่มน้ำ ส่วนใบแก่แผ่นใบจะชูขึ้นเหนือน้ำ ลักษณะของใบเป็นรูปเกือบกลมและมีขนาดใหญ่ โดยมีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ขอบใบเรียบและเป็นคลื่น ผิวใบด้านบนเป็นนวลเคลือบอยู่ ก้านใบจะติดอยู่ตรงกลางของแผ่นใบ ก้านใบมีลักษณะแข็งและเป็นหนาม หากตัดตามขวางจะเห็นรูอยู่ภายใน และก้านใบจะมีน้ำยางสีขาว เมื่อหักก้านจะมีสายใยสีขาว ๆ สำหรับใบอ่อนจะเป็นสีเทานวล ปลายจะม้วนงอขึ้นเข้าหากันทั้งสองด้าน[1],[2]
- ดอกบัวหลวง ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว มีสีขาว สีชมพู มีกลิ่นหอม มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กและสีขาวอมเขียวหรือเป็นสีเทาอมชมพู ร่วงได้ง่าย ส่วนกลีบดอกจะมีจำนวนมากและเรียงซ้อนกันอยู่หลายชั้น ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 20-25 เซนติเมตร ในดอกจะมีเกสรตัวผู้สีเหลืองอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร และล้อมรอบอยู่บริเวณฐานรองดอกซึ่งมีลักษณะเป็นรูปกรวยหงาย หรือที่เรียกว่า “ฝักบัว” ที่ปลายอับเรณูจะมีระยางคล้ายกระบองเล็ก ๆ สีขาว ส่วนเกสรตัวเมียจะมีรังไข่ฝังอยู่ในฐานรองดอก เมื่ออ่อนเป็นสีเหลือง หากแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว ช่องรังไข่จะเรียงเป็นวงบนผิวหน้าตัด มีจำนวน 5-15 อัน ส่วนก้านดอกมีสีเขียว ลักษณะยาวและมีหนามเหมือนก้านใบ โดยก้านดอกจะชูขึ้นเหนือน้ำและชูขึ้นสูงกว่าก้านใบเล็กน้อย ดอกบัวหลวงจะเริ่มบานในตอนเช้า โดยจะออกดอกและผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม (ดอกมีสารอัลคาลอยด์ (alkaloids) ชื่อ nelumbine ส่วน Embryo มี lotusine ส่วนเกสรมีสารฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น quercetin, isoquercitrin, luteolin, luteolin glucoside และยังพบว่ามีสารอัลคาลอยด์ด้วย)[1],[2],[3],[4],[6]
- ฝักบัวหลวง ในฝักมีผลอ่อนสีเขียวนวลจำนวนมาก ผลจะฝังอยู่ในส่วนที่เป็นฝักรูปกรวยในดอก ในรูปกรวยของดอกนั้นเมื่ออ่อนจะเป็นสีเหลือง เมื่อแก่แล้วจะขยายใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีเทาอมเขียว โดยจะมีผลสีเขียวอ่อนฝังอยู่ในฝักรูปกรวยเป็นจำนวนมาก[1]
- ผลบัวหลวง หรือ เมล็ดบัวหลวง ออกผลเป็นกลุ่มหรือที่เรียกว่าฝัก ลักษณะผลเป็นรูปกลมรี ผลอ่อนมีสีเขียวนวลและมีจำนวนมาก เมล็ดมีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ในเมล็ดมีดีบัวหรือต้นอ่อนที่ฝังอยู่กลางเมล็ดมีสีเขียว (เมล็ดมีสารอัลคาลอยด์ (alkaloids) และ beta-sitosterol[1],[2],[7]
- ดีบัวหลวง คือ ส่วนของต้นอ่อนที่อยู่ในเม็ดบัวหลวง ดีบัวมีลักษณะคล้ายสาก มีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร มีใบอ่อน 2 ใบ ใบหนึ่งสั้น ส่วนอีกใบยาว ใบมีสีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมเหลือง ปลายใบมีลักษณะม้วนเป็นรูปคล้ายลูกศร มีต้นอ่อนตรง ขนาดเล็กมากอยู่ระหว่างใบอ่อนทั้งสอง มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร โคนต้นมีสีเหลืองอ่อนหรือเป็นสีเหลืองอมเขียว ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร เนื้อหนาเปราะ ร้อนหน้าตัดจะมีรูเล็ก ๆ จำนวนมาก ดีบัวมีรสขมจัด แต่ไม่มีกลิ่น (ดีบัวมีสารในกลุ่มอัลคาลอนด์อยู่หลายชนิด เช่น Demethylcoclaurine, Isoliensinine, Liensinine, Lotusine, Methyl corypalline, Neferine, Nuciferine, Pro Nuciferine และยังมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น Galuteolin, Hyperin, Rutin)[15]
สรรพคุณของบัวหลวง
- รากและเม็ดบัวมีรสหวานเย็นและมันเล็กน้อย ช่วยบำรุงกำลัง ใช้เป็นยาชูกำลัง (ราก, เม็ดบัว[1],[5],[12],[14], ดอก[14])
- ช่วยบำรุงร่างกาย แก้กษัย (เม็ดบัว, ใบอ่อน[12],[14], กลีบดอก[14])
- เม็ดบัวมีคุณค่าทางอาหารสูง ช่วยเพิ่มพลังงานและไขมันในร่างกาย จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งหายป่วยใหม่ ๆ ที่ยังมีอาการอ่อนเพลียอยู่ หรือใช้เป็นอาหารบำรุงกำลังของหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้อง มีอาการอ่อนเพลีย หรืออาเจียน (เม็ดบัว)[12],[14]หรือจะใช้รากต้มเป็นน้ำกระสายดื่มแก้อาการอ่อนเพลียก็ได้ (ราก)[12] ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย (เม็ดบัว)[14]
- ดอกบัวสดสีขาวใช้ต้มกับน้ำดื่มติดต่อกัน จะมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการอ่อนเพลีย ทำให้สดชื่นขึ้น และช่วยลดอาการใจสั่น (ดอก, เกสร[12],[14], กลีบดอก[14])
- ช่วยบำรุงโลหิต (เม็ดบัว[7], ใบแก่[12],[14])
- ช่วยลดความดันโลหิตสูงและลดไขมันในเส้นเลือด ด้วยการใช้ใบสดหรือแห้งนำมาหั่นเป็นฝอยต้มกับน้ำพอท่วมจนเดือดประมาณ 10-15 นาที ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง โดยให้ดื่มติดต่อกันอย่างน้อย 20 วัน และตรวจวัดความดันเป็นระยะพร้อมทั้งสังเกตอาการ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง ปวดท้ายทอย หากดื่มแล้วความดันโลหิตลดลงก็ต้องหมั่นตรวจวัดความดันอย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง พร้อมทั้งสังเกตอาการดังกล่าวไปด้วย ถ้าหากพบว่ามีอาการผิดปกควรรีบไปพบแพทย์ (ใบ)[5],[12],[14] หรือจะใช้ดีบัวประมาณ 1.5-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่ม ก็มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นกัน อีกทั้งยังช่วยขยายเส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจในกรณีที่เส้นเลือดตีบ (ดีบัว)[9],[15]
- ช่วยบำรุงประสาทและสมอง (เม็ดบัว[7],[9],[14], เกสร[14])
- ช่วยผ่อนคลายความเครียด อาการหงุดหงิดนอนไม่หลับ ช่วยทำให้นอนหลับสบาย ด้วยการใช้ดีบัวประมาณ 1.5-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่ม (ดีบัว)[12],[15]
- รากบัวหลวงช่วยเสริมฤทธิ์ยานอนหลับ ทำให้หลับสบาย โดยมีฤทธิ์ไม่แรงมากนัก (ราก)[12],[14]
- เม็ดบัวมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยป้องกันมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งตับ (เม็ดบัว)[9]
- ช่วยชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ และผิวพรรณ (เม็ดบัว)[9]
- เกสรบัวหลวงนำมาใช้ปรุงเป็นยาหอม เป็นยาชูกำลัง บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่นใจ แก้อาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เป็นยาสงบประสาท และช่วยขับเสมหะ โดยใช้เกสรแห้งนำมาบดเป็นผงครั้งละ 0.5-1ช้อนชา ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่ม หากเป็นเกสรสด ให้ใช้ประมาณ 1 หยิบมือ นำมาชงกับร้อน 1 แก้ว (ขนาดประมาณ 240 มิลลิลิตร) ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วนำมาดื่มในขณะที่ยังอุ่นครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 รอบ (เกสรตัวผู้)[1],[4],[5],[12]
- ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (ดอก, เกสรตัวผู้, เม็ดบัว)[1],[4],[8],[9],[12],[14]
- ดีบัวมีสาร Methylcorypalline ซึ่งเป็นตัวช่วยทำให้เส้นเลือดขยาย ใช้เป็นยาขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ แก้เส้นเลือดตีบในหัวใจเนื่องจากมีไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด เพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ และช่วยบำรุงหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้ดีบัวแห้ง 1 หยิบมือ นำมาชงกับน้ำร้อน 1 แก้วปกติ แล้วใช้ดื่มในขณะที่ยังอุ่น ๆ ก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง หรือจะปั้นเป็นเม็ดขนาด 0.5 กรัม ใช้รับประทานครั้งละ 3-5 เม็ด ก่อนอาหารเช้าและเย็นก็ได้ แถมยังช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยแก้ไข้และช่วยบำรุงร่างกายได้อีกด้วย (ดีบัว)[1],[5],[7],[8],[9],[12],[14]
- ช่วยคุมธาตุในร่างกาย (เกสรตัวผู้)[4]
- เหง้าหรือรากบัวใช้ต้มกับน้ำดื่ม เป็นยาแก้ธาตุไม่ปกติในเด็ก (ราก)[14]
- ช่วยลดไข้ (ราก[5],[12], ดีบัว[12]) ช่วยแก้ไข้ (เกสรตัวผู้[4],[12], ใบแก่[12],[14], ดอก[12],[14])
- ช่วยแก้ไข้รากสาดและไข้มีพิษร้อน (ดอก, เกสร)[14]
- ช่วยระงับอาการหวัดคัดจมูก ลดเสมหะ ด้วยการใช้ใบบัวมาหั่นเป็นฝอยแล้วผึ่งแดดให้แห้ง ใช้ทำเป็นมวนสูบเพื่อช่วยบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก (ใบ)[12]
- ใบแก่ใช้สูดกลิ่น ช่วยแก้ริดสีดวงจมูก (ก้านดอก, ใบแก่)[12],[14]
- ช่วยแก้อาการไอ (ราก)[5],[12],[14]
- ช่วยแก้เสมหะ (ราก, เหง้า, เม็ดบัว, ดอก, เกสรตัวผู้)[1],[14]
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เกสร[12],[14], เม็ดบัว[14], ราก[14])
- ช่วยแก้อาการติดเชื้อในช่องปาก ด้วยการใช้ดีบัวประมาณ 1.5-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่ม (ดีบัว)[15]
- ช่วยแก้ลม (เกสร)[4],[12]
- ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (ดีบัว)[9]
- ช่วยแก้อาการเลือดกำเดาไหล (เกสรตัวผู้)[4]
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ราก, เม็ดบัว)[1],[5],[8],[9],[12,[14] หรือจะใช้ใบนำมาหั่นเป็นฝอยชงดื่มแทนน้ำชา ก็ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้เช่นกัน (ใบ)[8] หรือจะใช้ดีบัวนำมาต้มเอาน้ำดื่มก็ช่วยแก้กระหายน้ำด้วยเช่นกัน และยังช่วยอาการกระหายหลังอาเจียนเป็นเลือดได้ด้วย (ดีบัว)[12],[15])
- ช่วยบำรุงปอด (เกสรตัวผู้)[4]
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เกสรตัวผู้[4], ฝัก[14], เปลือกฝัก[12])
- ช่วยแก้อาการท้องเดิน (ยางจากก้านใบและก้านดอก[1], เปลือกฝัก[14])
- กลีบดอกชั้นในและก้านใบ ใช้เป็นยาแก้อาการท้องร่วง (ใบ, กลีบดอกชั้นใน)[6] ส่วนชาวอินเดียจะให้เด็กดื่มน้ำรากบัว เพื่อช่วยระงับอาการท้องร่วง (ราก, สายบัว)[8],[14]
- เม็ดบัวช่วยรักษาอาการท้องร่วงและบิดเรื้อรัง (เม็ดบัว)[7],[9]
- ช่วยแก้ลำไส้อักเสบ (เม็ดบัว)[12]
- ช่วยสมานแผลในมดลูก (เปลือกฝัก)[14]
- ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะบ่อย (ดอก, เกสรตัวผู้[1],[4],[6],[8], ราก[12])
- กลีบดอกชั้นในนำมาตำใช้พอกแก้โรคซิฟิลิส (กลีบดอกชั้นใน)[6]
- ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (เกสรตัวผู้)[4]
- ช่วยแก้อาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ (เกสรตัวผู้[4], เม็ดบัว[9])
- ช่วยบำรุงถุงน้ำดี (ดีบัว)[7]
- ช่วยแก้ดีพิการ (ราก, เม็ดบัว)[14]
- ช่วยบำรุงตับ (เกสรตัวผู้)[4]
- ช่วยบำรุงไต ม้าม ตับ (เม็ดบัว)[7],[9]
- ดีบัวช่วยแก้อหิวาตกโรค โดยชงดีบัวในน้ำร้อน แล้วดื่มในขณะที่ยังอุ่นครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง (ดีบัว)[12]
- ช่วยแก้พุพอง (ราก, เม็ดบัว)[1],[14]
- รากหรือเหง้าช่วยห้ามเลือด ทำให้เลือดหยุด (ราก[11], ดอก[12], กลีบดอก[14], ก้านใบ[12],[14])
- ใช้เป็นยาฝาดสมาน ช่วยสมานแผล (ดอก, เกสรตัวผู้[1],[6], เปลือกฝัก[12])
- ช่วยแก้อาการน้ำกามเคลื่อนหรืออาการฝันเปียก (เกสรตัวผู้[4], เม็ดบัว[9],[14], ดีบัว[15])
- ช่วยแก้อาการผดผื่นคัน (ดอก)[12]
- ช่วยแก้พิษเห็ดเมา (ฝัก)[14]
- บัวทั้งต้นใช้แก้พิษจากการรับประทานเห็ดพิษและอาการเป็นพิษจากพิษสุราเรื้อรัง ด้วยการใช้ทั้งต้นประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มรับประทาน (ทั้งต้น)[12],[14]
- ในบางตำราระบุว่าใบบัวสามารถใช้รักษาอาการปวดบวมและอาการอักเสบได้ ด้วยการนำใบบัวหลวงมาล้างให้สะอาดแล้วโขลกให้ละเอียด จากนั้นสกัดด้วยแอลกอฮอล์ แล้วนำสารสกัดที่ได้มาทาบริเวณที่มีอาการ (ใบ)[5]
- ช่วยบำรุงไขข้อ เส้นเอ็น แก้โรคข้อต่าง ๆ (เม็ดบัว)[9],[12],[14]
- ช่วยแก้อาการช้ำใน (ดอก)[12]
- ช่วยบำรุงครรภ์ของสตรี (เม็ดบัว[5],[12], ดีบัว[12],[14], ดอกบัว[12],[14])
- ใบแก่ใช้รับประทานจะช่วยเพิ่มแรงเบ่งขณะคลอดบุตรของสตรี (ใบแก่)[12],[14] ช่วยทำให้คลอดบุตรง่าย (ดอกบัว)[12],[14]
- ช่วยขับรกออกมาให้เร็วขึ้น (ฝัก)[14]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของบัวหลวง
- สารอัลคาลอยด์ที่พบในบัวหลวงมีฤทธิ์ช่วยลดอาการปวดและช่วยต้านอาการอักเสบ โดยสารสกัดเมทานอลจากเหง้าในขนาด 200 มก./กก. และขนาด 400 มก./กก. จะมีผลช่วยลดการอักเสบในหนู และมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ Phenylbutazone และ Dexamethasone ทั้งการทดสอบในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง[4],[15]
- สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากบัว มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ HIV โดยสาร (+)-1(R)-coclaurine และสาร 1(S)-norcoclaurine มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ HIV ในหลอดทดลอง โดยมีค่า EC50 = 0.8 และน้อยกว่า 0.8 กรัม./ไมโครลิตร โดยมีค่า Therapeutic index มากกว่า 125 และมากกว่า 25 ตามลำดับ ส่วนสาร Liensinine และสาร Isoliensinine มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ HIV ในหลอดทดลอง โดยมีค่า EC50 น้อยกว่า 0.8 กรัม/ไมโครลิตร โดยมีค่า Therapeutic index มากกว่า 9.9 และมากกว่า 6.5 ตามลำดับ และสาร Nuciferine มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ HIV ในหลอดทดลอง โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 0.8 กรัม/ไมโครลิตร โดยมีค่า Therapeutic index เท่ากับ 36[15]
- สารอัลคาลอยด์ที่พบในบัวหลวง มีฤทธิ์ทำให้นอนหลับ ซึ่งจากผลการทดลองพบว่ามีผลทำให้หนูนอนหลับ โดยสารสกัดเมทานอลจากเหง้าบัวนั้นมีผลในการลดพฤติกรรมและกิจกรรมต่าง ๆ ของสัตว์ โดยเพิ่มการเกิด pentobarbitone-induced sleeping time ในหนูทดลอง[4],[15]
- รากบัวสามารถช่วยลดการดูดซึมของกลูโคสและทำให้ไม่เพิ่มขนาดปริมาณของอินซูลิน จึงสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ทั้งคนปกติและในผู้ป่วยเบาหวาน[14]
- เกสรและดอกบัวหลวงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต่อต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยเกสรตัวผู้จะมีฤทธิ์จับอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่า EC50 42.05 ?g/ml[4]
- เกสรบัวหลวงตัวผู้มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยไปยับยั้ง advance glycation end products (AGE) และ rat lens aldose reductase (RLAR) โดยมีค่า IC50 125.48 และ 48.30 ?g/ml ตามลำดับ โดยฤทธิ์การยับยั้ง AGE และ RLAR นั้นมีผลต่อการลดการเกิดภาวะเบาหวาน[4]
- สารสกัดจากเกสรบัวหลวงสามารถแทรกซึมเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนังได้ดี มีผลทำให้ชะลอการเจริญของเม็ดสี Melanin ได้ และยังช่วยทำให้ผิวหนังเต่งตึงขึ้น เนื่องจากสารสกัดดังกล่าวประกอบไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่ยับยั้งการทำงานของ Tyrosinase enzyme นอกจากนี้ยังพบ Vitamin A – Palminate ซึ่งเป็นตัวช่วยทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่มเมื่อนำสารสกัดจากเกสรดังกล่าวมาผลิตเป็นเครื่องสำอางประเภท ครีมบำรุงผิว และครีมกันแดด[14]
- สารสกัดแอลกอฮอล์ของเกสรบัวหลวงในขนาด 10 ก./กก. ด้วยการป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูถีบจักร ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ[4]
- สารสกัดที่ได้จากดอกและใบบัวหลวง มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียทุกชนิด[13]
- สารสกัดแอลกอฮอล์จากดีบัวมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Streptococcus group A[15]
- สารสกัดด้วยน้ำจากดีบัว มีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต โดยสาร Demethylcoclaurine จากดีบัวมีฤทธิ์ในการคลายกล้ามเนื้อเรียบ ส่วนสาร Methylcorypalline มีฤทธิ์ในการช่วยขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ และสาร Neferine มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตและช่วยต้านการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ โดยมีผลต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด[15]
ประโยชน์ของบัวหลวง
- รากบัวหลวง (เหง้าบัว) สามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ทั้งคาวหวาน เช่น เหง้าบัวผัดน้ำมัน เหง้าบัวอ่อนต้มหรือตุ๋นกระดูกหมูกับเครื่องยาจีน นำมาเชื่อมแห้งรับประทานเป็นของหวาน ทำเป็นน้ำรากบัว หรือนำมาต้มเป็นน้ำสมุนไพรรากบัว[1],[6],[8],[10]
- ไหลบัว (หลดบัว) สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งสดและแห้ง เช่น การนำมาทำแกงเลียง แกงส้ม ต้มกะทิ ผัดเผ็ดต่าง ๆ ฯลฯ[8],[10]
- สายบัวนำมาปรุงเป็นอาหารหรือใช้แทนผักได้หลายชนิด เช่น แกงส้มสายบัวกับปลาทู แกงส้มสายบัว ต้มกะทิปลาทู ฯลฯ[8],[10]
- ดอกนำมาบูชาพระหรือนำมาใช้ในทางศาสนา เนื่องจากดอกบัวหลวงเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทางพระพุทธศาสนา มีความเกี่ยวข้องโดยตรงสำหรับการบูชาพระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์[2],[3],[6],[8],[11]
- กลีบดอกนิยมนำไปทำเมี่ยงดอกบัว ยำดอกไม้ หรือทำเมนูกลีบัวชุบแป้งทอด[14]
- กลีบดอกแห้งในอดีตใช้มวนเป็นบุหรี่[11],[14]
- สารสกัดจากเกสรนำมาใช้ทำเป็นเครื่องสำอางที่เป็นตัวช่วยชะลอการสร้างเม็ดสีผิว ทำให้ผิวหนังเต่งตึงและอ่อนนุ่ม เช่น ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิวทั้งกลางวันกลางคืน[2],[6],[14]
- เกสรตัวผู้เมื่อนำมาตากแห้ง สามารถใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องยาไทยและจีนได้หลายชนิด เช่น ยาลม ยาหอม ยานัตถุ์ ฯลฯ[11]
- ใบบัวหลวงนำมาใช้สำหรับห่อข้าว ห่ออาหาร ห่อขนม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น หรือจะนำมาห่อผักสดเก็บในตู้เย็น หรือใช้ในงานประดิษฐ์ต่าง ๆ ส่วนใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริกได้[2],[6],[8],[12]
- ใบบัวแก่เมื่อนำมาตากแห้ง ใช้เป็นส่วนผสมของยากันยุง[11]
- ก้านใบและก้านดอกบัวสามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษ และเส้นใยใช้ทำไส้ตะเกียง[8]
- เม็ดบัวทั้งอ่อนและแก่สามารถนำมารับประทานหรือใช้ประกอบอาหารได้หลากหลาย ที่รู้จักกันดีก็คือ น้ำอาร์ซี ข้าวอบใบบัว เม็ดบัวต้มน้ำตาลทรายแดงผสมในเต้าฮวยหรือเต้าทึง สังขยาเม็ดบัว เม็ดบัวเชื่อม สาคูเม็ดบัว ขนมหม้อแกงเม็ดบัว เป็นต้น และยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นแป้งได้เป็นอย่างดี[1],[2],[7],[8]
- เปลือกบัวนำมาใช้เป็นวัสดุในการปลูกเห็ดชนิดหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “เห็ดบัว”[11]
- เปลือกเมล็ดและฝักแก่ใช้ทำเป็นปุ๋ย[8]
- เนื่องจากดอกบัวหลวงมีความสวยและมีกลิ่นหอม จึงนิยมปลูกไว้ประดับในสระน้ำหรือปลูกไว้ในกระถางทรงสูง[3],[6],[8]
คุณค่าทางโภชนาการของเม็ดบัวหลวงดิบ / แห้ง ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 89 / 332 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 17.28 / 64.47 กรัม
- น้ำ 77.00 / 14.16 กรัม
- ไขมัน 0.53 / 1.97 กรัม
- โปรตีน 4.13 / 15.41 กรัม
- วิตามินเอ 13 / 50 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.171 / 0.640 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.040 / 0.150 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.429 / 1.600 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 6 0.168 / 0.629 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 9 28 / 104 ไมโครกรัม
- วิตามินซี 0 / 0 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 44 /163 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.95 / 3.53 มิลลิกรัม
- ธาตุแมกนีเซียม 56 / 210 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 168 / 626 มิลลิกรัม
- ธาตุโพแทสเซียม 367 / 1,368 มิลลิกรัม
- ธาตุโซเดียม 1 / 5 มิลลิกรัม
- ธาตุสังกะสี 0.28 / 1.05 มิลลิกรัม
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (แหล่งที่มา : USDA Nutrient database เม็ดบัวดิบ, เม็ดบัวแห้ง)
คุณค่าทางโภชนาการของรากบัวหลวงสุกหรือต้ม (ไม่ใส่เกลือ) ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 66 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 16.02 กรัม
- น้ำ 81.42 กรัม
- น้ำตาล 0.5 กรัม
- เส้นใย 3.1 กรัม
- ไขมัน 0.07 กรัม
- โปรตีน 1.58 กรัม
- วิตามินบี 1 0.127 มิลลิกรัม 11%
- วิตามินบี 2 0.01 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 3 0.3 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 5 0.302 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 6 0.218 มิลลิกรัม 17%
- วิตามินบี 9 8 ไมโครกรัม 2%
- โคลีน 25.4 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินซี 27.4 มิลลิกรัม 33%
- ธาตุแคลเซียม 26 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุเหล็ก 0.9 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุแมกนีเซียม 22 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุแมงกานีส 0.22 มิลลิกรัม 10%
- ธาตุฟอสฟอรัส 78 มิลลิกรัม 11%
- ธาตุโพแทสเซียม 363 มิลลิกรัม 8%
- ธาตุโซเดียม 45 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุสังกะสี 0.33 มิลลิกรัม 3%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (แหล่งที่มา : USDA Nutrient database)
คำแนะนำและข้อควรระวัง
- โดยทั่วไปแล้วเม็ดบัวส่วนใหญ่ที่เราเห็นจะเป็นสินค้านำเข้ามาจากประเทศจีนซึ่งเม็ดบัวจะมีขนาดใหญ่ และผ่านการกะเทาะเปลือกและดึงดีบัวออกแล้ว ส่วนเม็ดบัวไทยนั้นมีขนาดเล็กกว่าจึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่จากผลการวิจัยพบว่าสารต่อต้านอนุมูลอิสระในเม็ดบัวไทยจะมีมากกว่าเม็ดบัวจีนถึง 5-6 เท่า ![7]
- การรับประทานเม็ดบัวเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น ควรเลือกรับประทานเฉพาะเมล็ดบัวสดเท่านั้น ซึ่งเราสามารถหาซื้อฝักบัวสดที่ขายเป็นกำ ๆ ได้ตามตลาด (แต่อาจจะหาได้ยากสักหน่อย) วิธีการรับประทานเมล็ดบัว อย่างแรกก็ให้แกะเปลือกที่หุ้มเมล็ดอยู่ออก (เนื้อเม็ดบัวควรจะมีสีขาวอมเหลือง) แล้วให้รับประทานเข้าไปทั้งเม็ด โดยไม่ต้องเอาดีบัวหรือต้นอ่อนภายในเม็ดออก อาจจะมีรสฝาดขมบ้าง แรก ๆ อาจจะไม่คุ้นลิ้น แต่เมื่อรับประทานไปสักระยะจะเฉย ๆ เพราะดีบัวนั้นมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง โดยให้รับประทานไม่น้อยกว่าวันละ 20 เม็ด จะทานมากกว่านี้ก็ไม่ห้าม[7]
- การเลือกซื้อฝักบัวสด ควรเลือกฝักสดและมีเมล็ดขนาดใหญ่มีสีเขียวอ่อน เพราะจะได้เม็ดบัวที่มีเนื้อหวานกรอบกำลังดี[7]
- สำหรับการเลือกซื้อเม็ดบัวชนิดอบแห้ง ควรเลือกเฉพาะเม็ดบัวที่มีสีเหลืองนวลเท่านั้น ถ้าหากเม็ดบัวมีสีเหลืองเข้มแสดงว่าเก็บไว้นานแล้ว และควรเลือกเม็ดที่ไม่แตกหัก ไม่มีฝุ่นละอองปนเปื้อน ไม่มีกลิ่นสาบหรือกลิ่นเหม็นหืน และขั้วเม็ดบัวไม่ดำคล้ำ[7]
- หากนำเม็ดบัวมาปรุงเป็นอาหารร่วมกับลำไยแห้ง จะช่วยทำให้สรรพคุณทางยาของเม็ดบัวเพิ่มมากขึ้น[9]
- เกสรบัวหลวงอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางราย โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการแพ้เกสรดอกไม้[4]
- สำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูก ท้องเฟ้อ อาหารไม่ค่อย ไม่ควรรับประทานเม็ดบัว[9]
- ไม่ควรปรุงอาหารที่มีเม็ดบัวอยู่ในภาชนะที่ทำจากเหล็ก เพราะจะทำให้เม็ดบัวกลายเป็นสีดำ[9]
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “บัวหลวง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [2 ธ.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “บัวหลวง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [2 ธ.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “บัวหลวง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [2 ธ.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เกสรบัวหลวง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [2 ธ.ค. 2013].
- รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2546. “บัวสายและบัวหลวง“. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [2 ธ.ค. 2013].
- โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์. “บัวหลวง“. (คุณครูสุวรีย์ เปรมมงคล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th. [2 ธ.ค. 2013].
- สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี. “ประโยชน์ของเม็ดบัว“. (นายบุญลิน บุญมาแคน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: banphue.udonthani.doae.go.th. [2 ธ.ค. 2013].
- ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. “บัวหลวง ดอกไม้ประจำจังหวัดปทุมธานี“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th. [2 ธ.ค. 2013].
- จำรัส เซ็นนิล. “เม็ดบัว สุดยอดธัญพืชป้องกันมะเร็ง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [2 ธ.ค. 2013].
- GotoKnow. “เหง้าบัว อาหารและยาที่ได้มาจากใต้ดิน“. (ครูไพฑูรย์ ศิริรักษ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [2 ธ.ค. 2013].
- ศูนย์ฝึกอบรมและควบคุมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. “ดอกบัวหลวง ดอกไม้ประจำจังหวัดพิจิตร“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th. [2 ธ.ค. 2013].
- บทความเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียง โดย สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา. “นานาสรรพคุณของบัว“. (ชฎาพร นุชจังหรีด). อ้างอิงใน: หนังสือมหัศจรรย์แห่งบัว (ภัทราพร ตั้งสุขฤทัย), หนังสือสมุนไพรน่าใช้ เล่ม 1 (ลัดดาวัลย์ บุญรัตนกรกิจ), หนังสือสมุนไพรน่ารู้ (วันดี กฤษณพันธ์), หนังสือเพชรน้ำเอก กรุยอดตำรับยาสมุนไพร (วิพุธโยคะ รัตนรังษี, สุวัตร์ ตั้งเจริญ และปริญญา อุทิศชลานนท์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.uniserv.buu.ac.th. [2 ธ.ค. 2013].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “บัวหลวง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [2 ธ.ค. 2013].
- ไทยโพสต์. “บัวหลวง : บำรุงหัวใจ ขยายหลอดเลือด สารสกัดทำให้ผิวขาว ต้านชรา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net. [2 ธ.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ดีบัว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [2 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vietnam Plants & The USA. plants, Cozy Memories, M i r a i, japanesejack, Marc Nollet, J. Shejbal, blumenbiene, Kiasog, chenning.Sung.宋晨寧 @ TAIWAN, blumenbiene, o331128, sakichin, The running flower, Apricot Cafe, Bognár János, kaiyanwong223), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
ที่มา : https://medthai.com/%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น